ดีพเทค“สตาร์ทอัพ” ตอบโจทย์พัฒนา “อีอีซี”
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปรียบเหมือน sandbox รองรับกลุ่มสตาร์ทอัพที่จะนำเทคโนโลยีและแนวคิดการแก้ไขปัญหาที่จะตอบสนองความต้องการของพื้นที่ตลอดห่วงโซ่อุปทานของหลากหลายอุตสาหกรรมเป้าหมายได้
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) เปิดเผยว่า ในปี 2564 เอ็นไอเอ ได้เริ่มดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในอีอีซี มี “กิจกรรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก(ดีพเทค) หรือ NIA Deep Tech Incubation Program @EEC” นำร่อง เพื่อสร้างโอกาสให้ดีพเทคสตาร์ทอัพ
โครงการนี้มุ่งเน้นการใช้ศักยภาพเชิงพื้นที่เชื่อมโยงการทำงาน เพื่อนำเสนอและทดสอบผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเน้นในกลุ่ม ARITech ดีพเทคสตาร์ทอัพ ได้แก่ 1. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) 2. หุ่นยนต์ 3. เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนสําหรับบุคคล (Immersive IoT) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นในพื้นที่ อีอีซี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
สำหรับเทคโนโลยีเอไอในปัจจุบันมีมูลค่าทั่วโลก 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ในอีก 5 ปีจะมีมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนสําหรับบุคคล ในปัจจุบันมีมูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์ ในอีก 5 ปี จะขึ้นไปถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ในอนาคตกลุ่มบริการและการท่องเที่ยวจะใช้เพิ่มขึ้นมาก รวมแล้วในอีก 5 ปีข้างหน้าเทคโนโลยี 3 กลุ่มนี้จะมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์
ปัจจุบันไทยต้องซื้อเทคโนโลยีทั้ง 3 กลุ่มนี้ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของจีดีพี คาดว่าภายใน 3 ปี จะเห็นผู้ที่จะเข้ามาเป็นดีพเทคสตาร์ทอัพกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยขณะนี้ได้คัดเลือกดีพเทคสตาร์ทอัพ 3 กลุ่มนี้ในพื้นที่ อีอีซี เพื่อพัฒนาแล้ว 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเอไอ รองลงมาเป็นหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนสําหรับบุคคล
สำหรับ ดีพเทคสตาร์ทอัพทั้ง 10 ราย แบ่งเป็นด้านปัญญาประดิษฐ์ และจัดการข้อมูล คือ 1. ZEEN การใช้ AI ในการตรวจจับวัตถุเพื่อทำนายวัตถุที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ 2. Crest Kernel DeepEyes ระบบรักษาความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลภาพจากกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์ 3. Verily Vision ระบบประตูอัตโนมัติสำหรับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์
4. AltoTech Energy Edge : แพลตฟอร์มการประหยัดพลังงานอัตโนมัติสำหรับงานโรงแรมและอาคาร5. AUTOPAIR การบริหารจัดการด้านอะไหล่ยานยนต์ โดยใช้ Big Data หรือ Data Analytics 6. Move Maxแพลตฟอร์มบริหารงานกิจกรรมการขนส่งผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์
ด้านหุ่นยนต์ และ Immersive IoT คือ 7. GENSURV รถฟอร์คลิฟท์ไร้คนขับ นำทางด้วยเลเซอร์ สำหรับการขนย้ายพาเลตในคลังและสายการผลิตด้านเทคโนโลยีเสมือนจริง 8. Blue Ocean Technology ระบบ Simulation ที่สามารถสร้างประสบการณ์เสมือนจริงที่ใกล้เคียงกับการฝึกอบรมจริงที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมด้านไอโอที
9. ENRES IoT และ AI platformสำหรับการบริการจัดการพลังงานเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย และ10. IFRA-Machine เครื่องมือที่ช่วยวิศวกรในโรงงานเก็บข้อมูลจากเครื่องจักรและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำในอีอีซี ร่วมเป็นที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจผ่านประสบการณ์และมุมมอง เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาร่วมแก้ปัญหาและต่อยอดทางธุรกิจ ตั้งเป้าที่จะพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพให้มีความพร้อมและสามารถขยายธุรกิจในต่างประเทศต่อไป
ในขณะนี้มีบริษัทพันธมิตรเข้าร่วมแล้ว 7 ราย ได้แก่ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท ปตท.
“ในอีอีซี ดีพเทคสตาร์ทอัพทั้ง 10 ราย จะมีเอกชนรายใหญ่เข้ามาร่วมพัฒนาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นโมเดลสำคัญที่ต้องมีตลาด และข้อมูลเชิงลึกเข้ามาสนับสนุน ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็จะเติบโตมาเป็นแค่บริษัททำวิจัยเท่านั้น”
แม้ว่าประเทศไทยจะมีจุดเด่นมากมาย แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่หลายด้าน โดยล่าสุดได้นำเสนอแนวทางในการส่งเสริมสตาร์ทอัพให้กับสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1. ยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทที่ต้องเป็นคนไทยมากกว่า 51% จึงจะได้รับการส่งเสริมจากรัฐอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการเงินและอื่นๆ โดยควรกำหนดเพียงเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในไทยและ 2. การส่งเสริมสตาร์ทอัพออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะตลาดในไทยมีมูลค่าจำกัดหากไม่ออกไปต่างประเทศได้ ก็จะก้าวไปเป็นยูนิคอร์น (มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์)
ทั้งนี้การดึงสตาร์ทอัพต่างชาติให้เข้ามาลงทุนภายในประเทศ จะมี 3 ตัวแปรสำคัญ 1. เมืองมีความพร้อมในการใช้ชีวิตรู้สึกสบาย ขณะนี้มีทางเลือก 3 เมืองได้แก่ สิงคโปร์, กรุงเทพ และจาการ์ต้า 2. อีโคซิสเท็ม กรุงเทพ, พงัน และเชียงใหม่สตาร์ทอัพต่างชาติให้ความสนใจเข้ามามาก และ 3. ศักยภาพธุรกิจขนาดใหญ่ในการเป็นพาร์ทเนอร์จากการจัดอันดับของต่างประเทศในอาเซียนมีดีพเคสตาร์ทอัพอยู่เพียง 2 ประเทศ คือสิงคโปร์ 65 ราย ไทย 1 ราย แต่สตาร์ทอัพเทคมีคู่แข่งอยู่เยอะ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย