เช็คนโยบาย 'รถยนต์ไฟฟ้า' ไทยจะเป็นฐานการผลิตได้หรือไม่?

เช็คนโยบาย 'รถยนต์ไฟฟ้า' ไทยจะเป็นฐานการผลิตได้หรือไม่?

หลายประเทศคาดการณ์ว่า "รถยนต์ไฟฟ้า" (EV) จะมีดีมานด์มากขึ้น รวมถึงความต้องการอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าให้รถ EV ก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ชวนเช็คว่าประเทศไทยพร้อมไหม? ที่จะเป็นฐานการผลิตในอนาคต

ไม่นานมานี้ มีข้อมูลจาก McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก ได้ออกมาเปิดเผยว่า ค่ายรถยนต์ทั่วโลกจะเปิดตัว "รถยนต์ไฟฟ้า" หรือ EV มากกว่า 350 รุ่น ภายใน 4 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ EV ในจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เติบโตประมาณ 120 ล้านคัน ในปี 2573 

มองกลับมาที่ประเทศไทย ได้ข่าวแว่วๆ ว่าเราอยากเป็นฐานการผลิตของ "รถยนต์ไฟฟ้า" ลองมาเช็คกันว่าไทยมีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

1. "รถยนต์ไฟฟ้า" เติบโตสูงมากในตลาดโลก

เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ในระดับสูงมาก โดย McKinsey & Company คาดการณ์ว่าจะมี EV มากกว่า 350 รุ่น ที่ค่ายรถทั่วโลกปล่อยออกมาชิงตลาดภายในปี 2568 โดยจะมีการพัฒนา EV ให้ขับขี่ได้ไกลกว่าในปัจจุบัน 

อีกทั้งยังระบุอีกว่า ความต้องการด้านพลังงานสำหรับ EV จะเติบโตมากในช่วงปี 2563 - 2573 อยู่ที่ราว 20,000 – 280,000 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

2. ไทยพร้อมเปิดตลาด EV ไหม? มีนโยบายเรื่องนี้ยังไง?

สำหรับประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานคาดการณ์ว่า จะมีการใช้ EV จำนวน 138,918 คัน ภายในปี 2568 และเพื่อที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV สำคัญของโลก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงตั้งเป้าเร่งการผลิต EV สะสมไว้ที่ 1,051,000 คัน ภายในปี 2568 และจะเพิ่มการผลิต EV สะสมให้ได้ 6,224,000 คัน ภายในปี 2573 

ปัจจุบันไทยมีหัวชาร์จ EV 1,000 หัว หากหัวชาร์จ 1 หัว สามารถให้บริการชาร์จได้ 3 คัน สนพ.คาดว่า จะต้องมีหัวชาร์จเพิ่มขึ้นทั้งหมด 47,000 หัวชาร์จ ในปี 2568

ส่วนในด้านจุดชาร์จ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติตั้งเป้าให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศแบบ Fast Charge สำหรับรถยนต์และกระบะ 12,000 หัวชาร์จ ภายในปี 2573


3. เช็คพฤติกรรมคนไทยกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า

บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นต์ จำกัด หรือ Sharge หนึ่งในผู้ให้บริการโซลูชันส์ติดตั้งหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ให้ความเห็นว่า พฤติกรรมการชาร์จ EV ของประเทศไทยก็จะเติบโตไปในลักษณะที่นิยมชาร์จเองที่บ้านเป็นหลัก เนื่องจากโครงสร้างที่อยู่อาศัยของคนไทยส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว

หากภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการติดตั้งเครื่องชาร์จตามบ้าน ด้วยการออกกฎหมายให้สามารถติดตั้ง 'หม้อแปลงแยกสำหรับการชาร์จรถ EV' ในแต่ละบ้านได้ จะลดอุปสรรคเรื่องที่ชาร์จ EV ไม่เพียงพอลงอย่างมาก

นอกจากนี้ แนวโน้มการเติบโตของรถ EV ในประเทศไทยอาจมาเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากผลการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2564 พบว่า ผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่ สนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV ในประเทศ

และต้องการให้ภาครัฐเริ่มดำเนินการให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการใช้รถ EV ก่อนปี 2568 คิดเป็นสัดส่วนถึง 47% รองลงมา (31.5%) เห็นด้วยตามกรอบระยะเวลาตามแผนฯ ที่จะเริ่มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2568 และมีผู้เสนอให้เลื่อนการดำเนินงานตามแผนฯ ออกไป 5 ปี กับ 10 ปี คิดเป็น 11% และ 10.5% ตามลำดับ

--------------------------

ที่มา : McKinsey & Company, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย, คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ, springnews