"ประยุทธ์" ขีดเส้น 6 เดือนแก้ปัญหาหนี้สินระยะสั้นให้ประชาชน เล็งหั่นดอกเบี้ย ช่วยลดค่าครองชีพ
นายกฯสั่งการใน ครม.ให้เร่งรัดแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชน ลั่นแบ่งแผนแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในส่วนของการแก้ปัญหาระยะสั้นเล็งคุมดอกเบี้ย เจรจาเจ้าหนี้ หวังลดภาระหนี้สินประชาชน เผยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเหลือเดือนละ 50,000 ล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ได้นำเรื่องปัญหาหนี้สินของประชาชนเสนอต่อที่ประชุมครม.ให้ได้รับทราบ ตนมองเห็นถึงปัญหาของประเทศของเรา ถ้าประชาชนของเรามีหนี้สินเป็นจำนวนมาก มีหนี้ตั้งแต่อายุน้อยมันจะมีผลต่อทั้งชีวิตของเขา ซึ่งเราก็พยายามแก้ไขมาโดยตลอด แก้ไขในเรื่องของหนี้นอกระบบที่ต้องเข้มงวดให้มากยิ่งขึ้น ให้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกประเด็น ทุกประการ
ในวันนี้เราต้องแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งหนี้สินกลุ่มต่างๆ ตอนนี้ที่ร้อนใจมากที่สุดคือหนี้ของกยศ.3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชีปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี
โดยเราได้มีการกำหนดมาตรการออกมา ทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะต่อไป ซึ่งมาตรการระยะสั้นเราจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ภายใน 6 เดือน ทั้งเรื่องการลดภาระดอกเบี้ยของประชาชนและสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อ PICO และ NANO สำหรับประชาชน ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนอีกด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพิจารณาการไกล่เกลี่ยหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่นหนี้กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์ และให้มีการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี จัดให้มี softloan สำหรับเอสเอ็มอีที่เป็น
NPLs เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและโรงรับจำนองเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยแต่มีที่ดินจำนวนจำกัดอยู่เพื่อจะเข้าถึงสินเชื่อเหล่านี้
สำหรับมาตรการระยะต่อไปคือการเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง การให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ คนเกษียนที่มีภาระหนี้สิน โดยจะต้องออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพิ่มการดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงินเพื่อชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคล ที่มีเจ้าหนี้หลายราย เป็นต้น
สำหรับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันนั้นมีข้อมูลว่า ก่อนปี 2557 มีอัตราเพิ่มขึ้นเดือนละ 88,000 ล้านบาท แต่จากปี 57 จนถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
นายกฯกล่าวว่า ในที่ประชุมยังหารือถึงการลดอัตราเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม คือกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพอิสระ ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบลดเงินสมทบลงเหลือ60 ของเงินสมทบเดิมเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายผลประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกันตน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และจะยังทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้นอีกด้วย