กรมท่าอากาศยานเร่งลงทุน รับท่องเที่ยวฟื้นตัว 120 วัน
นโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดเป้าหมายอีก 120 วันเปิดประเทศ ภายหลังเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 และเตรียมทดลอง “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ในวันที่ 1 ก.ค.นี้
วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีกำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ออกมาแอคชั่นสั่งการ ให้ ทย.ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในอนาคต ตามเป้าหมายของรัฐบาล พร้อมสั่งการให้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ท่าอากาศยานภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ทราบว่าขณะนี้ ทย.ได้เบิกจ่ายงบประมาณราว 24% และเตรียมลงนามสัญญาเบิกจ่ายอีก 25% ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งมีโครงการลงทุนสำคัญรวมมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การพัฒนาท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี วงเงิน 800 ล้านบาท, ท่าอากาศยานตรัง 1.8 พันล้านบาท, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 950 ล้านบาท และท่าอากาศยานขอนแก่น ราว 500 ล้านบาท ทำให้ ทย. สามารถเบิกจ่ายได้เพิ่มเป็นประมาณ 40%
“จากนโยบายรัฐบาล ขอให้กรมท่าอากาศยานเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว เพราะจากวิกฤติโควิด-19 นี้ สาธารณสุขของไทยสามารถควบคุมได้ นับเป็นโอกาสที่ต่างชาติจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ดังนั้นขอให้เตรียมพร้อม ทั้งเรื่องของโครงการเพิ่มศักยภาพ และมาตรการสาธารณสุข”
สำหรับโครงการเพิ่มศักยภาพที่ขอให้ ทย.เร่งดำเนินการ อาทิ ท่าอากาศยานกระบี่ โดย ทย.มีแผนปรับปรุงทางวิ่ง (รันเวย์) จาก 1,900 เมตร เป็น 3,000 เมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน รองรับเครื่องบินลำตัวกว้าง รวมไปถึงการจัดทำแผนพัฒนาท่าอากาศยานนครราชสีมาให้เป็นท่าอากาศยานที่รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ในการบินข้ามภูมิภาค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นเขตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวของจังหวัดทางอีสานใต้ นครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 ทย.มีแผนดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานชุมพร 2.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง 3.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานบึงกาฬ และ 4.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานมุกดาหาร โดยปัจจุบันเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเริ่มดำเนินโครงการ
สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะทยอยฟื้นตัวในช่วงตารางบินฤดูหนาว เริ่มในเดือน ต.ค.นี้ ปัจจุบัน ทย. ได้เร่งปรับปรุงท่าอากาศยานภูมิภาค โดยเฉพาะท่าอากาศยานในหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ ท่าอากาศยานกระบี่ ซึ่งแนวโน้มการเดินทางของนักท่องเที่ยวในขณะนี้ พบว่าสายการบินจองตารางบิน (สล็อต) เข้ามาแล้วประมาณ 64 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งการจองสล็อตการบินในช่วงดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วัน ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวและฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19
“เวลานี้มียอดจองสล็อต ทั้งเส้นทางในประเทศ และระหว่างประเทศ อาทิ สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สปริงแอร์ไลน์ และเสฉวนแอร์ไลน์ จากประเทศจีน และยังมีการขอสล็อตมายังท่าอากาศยานหัวหินด้วย ส่วนท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี มีสายการบินนอร์วิน จากประเทศรัสเซีย ในลักษณะเที่ยวบินเช่าเหมาลำ”
อภิรัฐ เผยด้วยว่า ท่าอากาศยานในภูมิภาครองรับอากาศยานลำตัวกว้างได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลทำให้สายการบินสามารถนำอากาศยานขนาดใหญ่ขนส่งผู้โดยสารมาท่องเที่ยวได้จำนวนมากขึ้น โดยการประกาศนโยบาย 120 วันเปิดประเทศของรัฐบาลนั้น สร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมการบิน นอกจากสายการบินจะตื่นตัวแล้ว ผู้ประกอบการร้านค้าในท่าอากาศยานที่เคยเงียบเหงา ขณะนี้เริ่มติดต่อกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง
ส่วนนโยบายการเปิดเส้นทางบินข้ามภาค ปัจจุบัน ทย. มีเที่ยวบินที่ให้บริการเส้นทางบินข้ามภาค 13 เส้นทางทั่วประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสายการบินต่างๆ ให้เปิดทำการบินในเส้นทางอื่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในท่าอากาศยานที่ยังไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันสายการบินไทยแอร์เอเชียได้แสดงความสนใจในเส้นทาง อาทิ เส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่, นครราชสีมา-สุราษฎร์ธานี, นครราชสีมา-กระบี่ และแม่สอด (ตาก) -นครราชสีมา เป็นต้น คาดว่าจะสามารถเปิดทำการบินได้ภายในปีนี้