Phuket Sandbox คือเดิมพันเปิดประเทศใน 120 วัน ทำอย่างไรจึงสำเร็จ
Phuket Sandbox เป็นเดิมพันสำคัญ ว่าไทยจะเปิดประเทศได้สำเร็จใน 120 วันหรือไม่ ถ้า ทำได้สำเร็จ ความหวังในการเปิดประเทศก็มีโอกาสเป็นจริง !
เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 มากถึง 40 ล้านคนต่อปี ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศสูงถึง 3.06 ล้านล้านบาทในปี 2562
การท่องเที่ยวกลายเป็นเม็ดเงินสำคัญ สร้างรายได้ให้ผู้คนและธุรกิจจำนวนมาก ต่อยอดสู่การผลิตสินค้าและบริการหลายชนิด ทั้งค้าปลีกค้าส่ง โรงแรม การเดินทาง สันทนาการ อาหาร ผลิตภัณฑ์ชุมชน ฯลฯ มีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจและจ้างงานในหลายภูมิภาค
หลังเกิดโควิด-19 ซึ่งกระทบการเดินทางและท่องเที่ยวทั่วโลก จากรายงานของ UNCTAD เมื่อ ก.ค. 2563 ไทยถูกประเมินว่า เป็นประเทศลำดับต้นๆ ในโลกที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงสุดจากการท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากโควิด คิดเป็นผลกระทบต่อ GDP ในสัดส่วนสูงถึง 9% เป็นรองเพียงประเทศจาไมกาที่ได้รับผลกระทบอยู่ที่ 11%
การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง จึงเป็นหัวใจของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการเปิดประเทศ ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงหลายประการ ทั้งความเสี่ยงในการกลับมาระบาดของโรค ความเสี่ยงในการควบคุมโรค โดยเฉพาะปัจจุบันการเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการรับมือมากขึ้น
ทั้งนี้ จากคำประกาศของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งเปิดประเทศให้ได้ใน 120 วัน กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปิดประเทศ โดยมี 'Phuket Sandbox' (ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์) เป็นกุญแจหรือก้าวแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564
นโยบาย Sandbox คืออะไร ..นโยบาย Sandbox มีเป้าหมายเป็นพื้นที่ทดลองการเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งกักตัวก่อนเดินทางไปจังหวัดอื่น และทดสอบว่าควบคุมการระบาดได้หรือไม่
ในเบื้องต้น ภูเก็ตอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่รับวัคซีนครบและมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ สามารถเดินทางเข้าภูเก็ตโดยตรงผ่านทางเครื่องบิน และท่องเที่ยวในจังหวัดได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่จะออกนอกภูเก็ตไปยังจังหวัดอื่นได้หลัง 14 วันไปแล้ว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่า นโยบายนี้จะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าภูเก็ตช่วงไตรมาส 3 ปีนี้อย่างน้อย 1 แสนคน
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินนโยบาย Sandbox มีต้นทุนสำคัญ 2 ประการคือ
ประการแรก ต้นทุนจากวัคซีนที่มีจำกัด ที่ทั่วประเทศหรือจังหวัดอื่นต้องสละให้ Sandbox นั้นก่อน เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดนั้นมีภูมิคุ้มกัน สามารถป้องกันการติดเชื้อ และสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมา
เช่น ล่าสุดจากการให้ข้อมูลของโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) พบว่าขณะนี้ 75% ของประชากรในภูเก็ต หรือ 350,871 คนจากประชากร 466,587 คนได้รับวัคซีนแล้ว โดยเป็นประชาชนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตประมาณ 310,000 คน ประชากรแฝงประมาณ 1 แสนคน และกลุ่มแรงงานต่างชาติอีกกว่า 74,000 คน
จะเห็นว่าเพื่อให้ภูเก็ตเปิดจังหวัดได้ ต้นทุนสำคัญคือวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนำไปฉีดให้คนต่างชาติ ในขณะที่คนไทยบางส่วนยังเข้าไม่ถึง สถานการณ์ดังกล่าวเสี่ยงสร้างความเหลื่อมล้ำและไม่พอใจให้คนจังหวัดอื่น ทั้งนี้แม้ค่าวัคซีนจะถูกเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ชาวต่างชาติแต่ละคนมาใช้จ่ายในประเทศ แต่นั่นไม่ใช่กรณีที่มีคนไทยจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีน และเสี่ยงเสียชีวิต
ประการที่สอง ต้นทุนจากความเสี่ยงที่คนนอก Sandbox มีโอกาสรับเชื้อที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ
ดังที่เห็นจากหลายประเทศ แม้ประเทศเหล่านั้นมีอัตราการฉีดวัคซีนมากพอสมควร แต่เมื่อมีการเปิดประเทศ การติดเชื้อก็กลับมาเพิ่มขึ้นและก่อปัญหาได้ นี่ยังไม่พูดถึงข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนหลักที่ไทยใช้ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งประเด็นความสามารถในการป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ว่ามากน้อยเพียงไร และข้อสงสัยว่า นอกจาก 'กันตาย' แล้ว สามารถ 'กันติด' ได้หรือไม่
ดังนั้น หัวใจที่จะทำให้ Phuket Sandbox ประสบความสำเร็จ ซึ่งหมายถึงความสำเร็จในการเปิดประเทศ คือ
รัฐบาลต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทั่วประเทศ หรือจังหวัดอื่นนอก Sandbox ทราบประโยชน์ของ Sandbox และสร้างความเชื่อมั่นว่าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
วิธีสร้างความเชื่อมั่นที่มีประสิทธิภาพ คือ รัฐต้องมีระบบติดตามที่เชื่อถือได้ในกรณีมีผู้ติดเชื้อ ต้องติดตามผู้เสี่ยงสัมผัสได้ไว เพื่อจำกัดผลกระทบและคุมการระบาดได้รวดเร็ว ทั้งในและนอก Sandbox
โดยเฉพาะสำหรับจังหวัดนอก Sandbox ถ้าได้รับผู้ติดเชื้อจาก Sandbox ไป รัฐบาลต้องรับประกันว่า จะควบคุมสถานการณ์ได้ มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือ ยาเพื่อรักษาอย่างเพียงพอ อย่าปล่อยให้คนจังหวัดอื่นนอก Sandbox รู้สึกว่า นอกจากตนต้องเสียสละวัคซีน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ยังต้องเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น พอยามป่วย ยังไม่มีเครื่องมือดูแลที่เพียงพอ เสี่ยงเสียชีวิตอีก
นอกจากนี้ รัฐต้องเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ทุกจังหวัดอย่างเพียงพอ อย่าให้จังหวัดที่มิใช่พื้นที่เป้าหมายทางเศรษฐกิจ ได้รับวัคซีนล่าช้าจนกระทบคุณภาพชีวิต และสร้างความเหลื่อมล้ำ
ถ้ารัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นเหล่านี้ได้ เสี่ยงทำให้นโยบาย Sandbox ถูกต่อต้าน ประชาชนจังหวัดอื่นอาจเรียกร้องให้ปิดประเทศ ยกเลิกนโยบาย Sandbox เพราะรู้สึกตนเองได้รับผลกระทบด้านลบสูง
ตัวอย่างเหมือนช่วง ก.ค. ปีก่อน กรณีมีทหารอียิปต์ที่เดินทางเข้าไทยติดเชื้อโควิด-19 เดินทางไปหลายจังหวัด สร้างความเสี่ยงให้มีผู้ติดเชื้อ ผลสำรวจของสวนดุสิตโพลต่อกรณีดังกล่าว ณ เวลานั้น พบว่า มากกว่า 90% ของประชาชนเห็นว่า รัฐบาลยังไม่ควรอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในทุกกรณี (อย่างเด็ดขาด)
หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นว่า การเปิดประเทศหรือดำเนินนโยบาย Sandbox ปลอดภัย ก็เสี่ยงได้รับการต่อต้านเช่นนี้
โดยสรุป Phuket Sandbox เป็นเดิมพันสำคัญ ว่าไทยจะเปิดประเทศได้สำเร็จใน 120 วันหรือไม่ ถ้า Phuket Sandbox ทำได้สำเร็จ ความหวังในการเปิดประเทศก็มีโอกาสเป็นจริง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลในการสร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัยให้กับคนไทยทั้งประเทศ