เอกชนแนะใช้“จีทูจี”ซื้อ“ชิพ” ป้อนอุตฯแก้ปมขาดแคลน
ปัญหา“ชิพ” ขาดแคลนอย่างหนักในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และอุปกรณ์ไอที หลายรายการขณะนี้ ซึ่งเป็นผลจากปัญหาใหญ่ในระดับโลกและกำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ
ปัญหา“ชิพ” ขาดแคลนอย่างหนักในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และอุปกรณ์ไอที หลายรายการขณะนี้ ซึ่งเป็นผลจากปัญหาใหญ่ในระดับโลกและกำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ ล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ประชุมหารือแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนชิพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
สุภาพ สุวรรณพิมลกุล เลขาธิการกลุ่มฯ เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าในระยะสั้น จะเข้าไปหารือกับภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกไปเจรจากับประเทศผู้ผลิตชิพชั้นนำ เช่น จีน ไต้หวัน จัดทำข้อตกลงซื้อชิพจากทั้ง 2 ประเทศนี้ในลักษณะ จี ทู จี หรือระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อเป็นตัวแทนเอกชนในการต่อรองซื้อชิพในล็อตใหญ่ นำมากระจายให้กับภาคเอกชนทั้วประเทศ เพราะหากให้เอกชนออกไปเจรจาซื้อชิพรายบริษัทจะมีอำนาจการต่อรองน้อย หากมีตัวแทนภาครัฐออกไปช่วยเจรจาให้กับภาคเอกชนก็จะมีน้ำหนักในการเจรจามากขึ้น
“ประเทศไทยไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทผลิตชิพเหมือสหรัฐ หรือยุโรป ดังนั้นภาครัฐจึงควรเป็นตัวแทนออกไปเจรจาร่วมกับภาคเอกชนทำการซื้อในลักษณะ จีทูจี ซึ่งจะทำให้มีโอกาสได้ซื้อชิพล็อตใหญ่ได้มากขึ้น แล้วนำมากระจายขายให้กับบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ของไทยทั่วประเทศ ก็จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนชิพในระยะสั้นได้”
ส่วนแผนในระยะยาว กลุ่มผู้ประกอบการจะร่วมมือกับภาครัฐในการออกไปดึงดูดบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีชิพให้เข้ามาลงทุนขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย เพื่อผลิตชิพรองรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตชิพจากจีน และไต้หวัน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยเป็นจำนวนมาก และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของจีน ดังนั้นการขยายเข้ามาตั้งโรงงานผลิตชิพในไทย ก็จะช่วยแก่ปัญหาการขาดแคลนชิพให้กับบริษัทของตัวเอง และขยายตลาดในอาเซียนได้เพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งในอนาคตไทยก็จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ขนาดใหญ่ในภูมิภาค ที่จะมีความต้องการชิพเพิ่มขึ้นมาก ทำให้การลงทุนในไทยจะเกิดประโยชน์ในระยะยาว นอกจากนี้ไทยยังมีจุดยืนที่เป็นกลางในสงครามการค้า ทำให้การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตชิพในไทยจะได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย
“ในขณะนี้มีผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของจีน และไต้หวัน เข้ามาตั้งโรงงานในไทยเป็นจำนวนมาก และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ จะเป็นแรงดึงดูดสำคัญในการดึงการลงทุนให้เข้ามาขยายฐานการผลิตชิพในไทยได้ เพราะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ในไทย และอาเซียนมีอัตราการเติบโตสูง และเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญ ซึ่งไม่เพียงจะช่วยให้บริษัทเหล่านี้มีชิพใช้อย่างเพียงพอ และยังช่วยลดปัญหาขาดแคลนชิพในตลาดโลกได้อีกด้วย ซึ่งทางกลุ่มฯจะเข้าไปหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อวางแผนดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมชิปต่อไป”
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนผลิตชิพสูง เนื่องจากไทยเป็นส่วนสำคัญใน Global Supply Chain ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากว่า 40 ปี และเป็นอุตสาหกรรมส่งออกหลักอันดับ 1-2 ของประเทศ ควบคู่กับอุตสาหกรรมยานยนต์มาตลอด
โดย ผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่ผลิตในไทย จะอยู่ในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การประกอบและทดสอบ
เซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและชิ้นส่วน ไปจนถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติ และอุปกรณ์สำนักงาน ในส่วนของเซมิคอนดัคเตอร์
ปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกหลายรายที่ได้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว เช่น Microchip, Maxim , NXP, Infineon, Toshiba, Sony, Hana โดยตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอในกิจการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ จำนวน 28 โครงการ เงินลงทุนรวม 29,000 ล้านบาท
“อุตสาหกรรมนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์แนวโน้มในอนาคต เช่น 5G, Smart City, ยานยนต์ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ IoT และ Data Industry ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพสูงที่จะรองรับการลงทุนในด้านนี้"
นอกจากนี้ ไทยยังมีมีบุคลากรที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและโลจิสติกส์ได้มาตรฐาน มีผู้ผลิตซัพพลายเออร์ที่พร้อม และมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม มีโอกาสที่จะดึงบริษัทระดับโลกรายใหม่ให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มได้