ธปท. หวั่นโควิดระลอก3 ยื้ดเยื้อ ทุบ 'จีดีพี'ปี 64 ต่ำ 1.8%

ธปท. หวั่นโควิดระลอก3 ยื้ดเยื้อ ทุบ 'จีดีพี'ปี 64 ต่ำ 1.8%

กนง.มติเอกฉันท์ตรึงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% พร้อมหั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยเหลือ 1.8% หวั่นโควิดระบาดลากยาว ไวรัสกลายพันธุ์ กระจายวัคซีนล่าช้า ฉุดจีดีพีไทย“ติดหล่ม” ท่องเที่ยวทรุด การจ้างงานไร้สัญญานฟื้นตัว

     นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวานนี้(23มิ.ย.) กนง.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 และปี 2565 ลงจากประมาณการเดิมเมื่อมี.ค.2564

      โดยปรับจีดีพีปีนี้ ลดลงเหลือ 1.8% จากประมาณการเดิมที่คาดไว้โต 3.0% และปรับจีดีพีปีหน้าลดลงเหลือ 3.9% จาก 4.7% เนื่องจากมองว่าการเติบโตเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ จากการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีทิศทางชะลอตัว ประกอบกับการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอก 3 ทำให้ธปท.มีการปรับจีดีพีลดลง

     อย่างไรก็ตาม หากดูด้านความเสี่ยง ที่มีผลต่อประมาณการในระยะข้างหน้า คือการระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ที่มีผลเป็นนัยสำคัญต่อประมาณการเศรษฐกิจ ที่กนง.ต้องจับตาใกล้ชิดมากขึ้น

ท่องเที่ยวส่อทรุดยาว

    นายทิตนันท์ กล่าวว่า ผลกระทบสำคัญที่มาจากสถานการณ์โควิด-19 ยื้ดเยื้อ คือผลกระทบด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ธปท.มีการปรับประมาณการนักท่องเที่ยว จาก 3 ล้านคนในมี.ค. มาเหลือ 7 แสนคนในปัจจุบัน

      แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ก็มีโอกาสที่จะเห็นการประมาณการนักท่องเที่ยวที่ 7 แสนคนปีนี้อาจปรับลดลงอีกได้ อีกทั้งหากการระบาดโควิด-19 ยืดเยื้อ กว่าที่คาดไว้ เศรษฐกิจไทยก็อาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดได้ ดังนั้นความเสี่ยงด้านต่ำยังมีอยู่

     เช่นเดียวกัน หากการแพร่ระบาดยืดเยื้อทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้การท่องเที่ยวทำได้จำกัดมากขึ้น การคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ 10 ล้านคน ปี 2565 ก็มีความเสี่ยงด้านต่ำด้วย

แรงงานไร้สัญญานฟื้น

     นอกจากนี้ โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ นอกจากมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ต่อผู้ประกอบการ การบริโภคเอกชนแล้ว โควิดระลอก 3 ยังมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญด้วย

     โดยหากดูตัวเลข ระดับการฟื้นตัวของการจ้างงาน ที่มีผลกระทบจากวิกฤติต่างๆ พบว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ครั้งนี้ มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของตลาดแรงงานรอบนี้ ช้าและแนวโน้มการฟื้นตัวยื้ดเยื้อกว่าในอดีต หรือเป็นไปในลักษณะ W sheped หากเทียบกับวิกฤติในอดีต เช่น วิกฤติการเงินโลกในปี 2551 วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และ วิกฤติการเมืองในปี 2557 เป็นต้น

       อีกทั้งยังพบว่าแนวโน้มหางานได้ยาก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ว่างงานระยะยาวมากกว่า 1 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องระวังในตลาดแรงงาน เพราะหากไม่ระวัง อาจทำให้เกิดแผลเป็น หรือ Scarring effects ที่หากดูแลไม่ทันอาจเกิดปัญหามากขึ้นในระยะถัดไปได้

     “การปรับประมาณการครั้งนี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทย กำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ จากโควิด-19 และมีความเสี่ยง หากการระบาดยื้ดเยื้อว่าที่คาดไว้ เศรษฐกิจก็จะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดได้ ดังนั้นความเสี่ยงด้านต่ำยังมีอยู่”

หวังคุมโควิดได้ในไตรมาส 3

    ทั้งนี้กรณีการปรับประมาณการจีดีพีภายใต้ 1.8% ของกนง. มาจากประมาณการเศรษฐกิจกรณีฐานโดยคาดว่าการระบาดระลอก 3น่าจะควบคุมได้ภายในสิ้นไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงต้นปี 2565

    นอกจากนี้ จากการประเมินความเสี่ยงด้านต่ำที่ยังมีอยู่สูง กนง.จึงได้พิจารณากรณีที่การระบาดยืดเยื้อกว่าที่คาดด้วย โดยรายละเอียดเพิ่มเติมจะมีการเผยแพร่ในรายงานนโยบายการเงิน ในวันที่ 7 ก.ค. 2564 ต่อไป

ห่วงไวรัสกลายพันธุ์

    อย่างไรก็ตามหากมองภาพเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นในช่วง 4-5 เดือนข้างหน้านี้ ยอมรับว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับเศรษฐกิจไทย ที่เป็นการแข่งขันกันระหว่างไวรัสที่กลายพันธ์ุกับการจัดหาวัคซีน ที่เหมาะสมและทันกาลและเพียงพอ ดังนั้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อตรงนี้ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทย ภาครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบาง และสายป่านสั้นขึ้นตามลำดับ

     ดังนั้นธปท.เองจะเน้น ผลักดันมาตรการที่มีอยู่แล้วให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นในผลทางปฏิบัติและเกิดขึ้นได้จริง ทั้งผ่านสินเชื่อฟื้นฟู และผ่านมาตรการอื่นๆ

      ทั้งนี้หากสามารถผ่านพ้นระยะสั้นนี้ไปได้ มีการควบคุมการระบาด การกลายพันธ์ุของไวรัสไปได้ จะเริ่มเห็นการบริโภคกลับมาฟื้นตัวขึ้น จากการอั้นในอดีต จะเริ่มเห็นการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้มาก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าค่อยๆฟื้นตัว

        ขณะเดียวกันที่สำคัญหากสามารถคุมการระบาดได้ ตัวที่เป็น K-Shaped Recovery ภาคเศรษฐกิจที่เปราะบางต่างๆจะได้รับแรงกระตุ้น หรือรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะลดความเปราะบางของครัวเรือนและภาคธุรกิจลงได้

เพิ่มเป้าส่งออก

      ทั้งนี้หากย้อนดูไส้ในการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งนี้ พบว่า มีทั้งตัวเลขที่ดีขึ้นและแย่ลง โดยปัจจัยที่มีผลต่อประมาณการ คืออุปสงค์ในประเทศที่ถูกกระทบ จากระลอก 3 จำนวนนักท่องเที่ยวที่น้อยกว่าคาด ส่งผลให้ธปท.ปรับตัวเลขประมาณการเหล่านี้ลง

       อย่างไรก็ตามมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากแผนการจัดหา และกระจายวัคซีนที่ดีขึ้น และแรงกระตุ้นจากภาคการคลังที่ดีขึ้น ผ่านพ.ร.บ.เงินกู้ฉบับใหม่ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น การส่งออกปรับตัวดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ธปท.มีการปรับตัวเลขเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

      เช่นการปรับตัวเลขส่งออก ที่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากดูมูลค่าส่งออก พบว่ามีการปรับขึ้นจาก 10% มาเป็น 17.1% จากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น เช่นเดียวกันการนำเข้าที่ปรับเป็น 22.7% จาก 15.2% จากการเร่งนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบเพื่อการส่งออก

       ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัด มีการปรับมาเป็นขาดดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐปีนี้ จากเกินดุลที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐปีนี้ ขณะที่ปีหน้าคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจกลับมาเกินดุลจากท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมากขึ้น

      ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและข้อจำกัดด้านอุปทานมีผลจำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อไทย ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

แนะรัฐเร่งฉีดวัคซีน-เบิกจ่าย

     อย่างไรก็ตาม ภายใต้โควิด-19 ระลอก3 กนง.มองว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

      ดังนั้นภาครัฐ ควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจและดูแลตลาดแรงงานในจุดที่มีความเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง

     ในขณะที่ภาคการเงิน ต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง ทั้งผ่านสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด -19

      อีกทั้ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและประเมินประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่ออย่างใกล้ชิด

คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%

     นายทิตนันทิ์ กล่าวอีกว่า ในการประชุมกนง.ครั้งนี้ กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% โดยคณะกรรมการประเมินว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลง และไม่ทั่วถึงมากขึ้น หากเทียบกับประมาณการเดิม อีกทั้งระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากโควิดระลอกใหม่

    กนง.จึงเห็นว่า การเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมครั้งนี้ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด

แทงกั๊กลดดอกเบี้ยรายย่อย

     ทั้งนี้กรณีที่มีการให้ธปท.ทบทวนเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิตลงนั้น ธปท.มองว่า การทบทวนเพดานดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในหลายเรื่องๆที่ธปท.ได้พิจารณาในเรื่องการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย

     โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยไปบางส่วนแล้ว ล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. 2563 ได้ลดดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยลงไปแล้วเป็น 16% สินเชื่อบุคคลเป็น 25% สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 24% สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เป็น 33% และมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การโอนย้ายหนี้จากบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลไปเป็นสินเชื่อระยะยาว โดยขอร่วมมือสถาบันการเงินให้ลดดอกเบี้ยลงเป็น 12 %และ 22% ตามลำดับ

      ทั้งนี้ธปท.จะประเมินผลของมาตรการต่างๆในหลายมิติในการช่วยเหลือ โดยในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้และต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจ ภายใต้ภาวะที่ลูกหนี้ยังได้รับความเดือดร้อน และต้องเอื้อให้มีการแข่งขันมากขึ้นในระยะต่อไป ต้องดูแลไม่ให้เกิดการผลักลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงออกไปใช้หนี้นอกระบบ ซึ่งจะยิ่งทำให้ลูกหนี้เดือดร้อนยิ่งขึ้น

กรุงศรีคาดตรึงดอกเบี้ยยาวถึงสิ้นปี 65

      ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่านโยบายที่สื่อสารออกมาในการประชุมครั้งนี้บ่งบอกชัดเจนถึงความระมัดระวังต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นอีกครั้งที่ กนง. ได้แสดงถึงความกังวลต่อครัวเรือนและเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วเป็นทุนเดิม พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของแผนการจัดหาและกระจายวัคซีน

      ปัจจุบันกรุงศรียังไม่เห็นว่าแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนเป็นการเริ่มถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษจะมาเป็นแรงกดดันให้แก่นโยบายของ กนง. อันเนื่องมาจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่สดใส กรุงศรีมองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงเดิมไปจนสิ้นปี 2565 และทางการจะเลือกใช้มาตรการที่ตรงจุดเพื่อช่วยเหลือด้านการกระจายสภาพคล่องและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป