การไฟฟ้าผสานภาคเอกชน หนุนเชื่อมโยงโครงข่ายรถอีวี

การไฟฟ้าผสานภาคเอกชน หนุนเชื่อมโยงโครงข่ายรถอีวี

การไฟฟ้า-เอกชน เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับรถอีวี ชี้ตอบโจทย์ลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ แนะเชื่อมโยงฐานข้อมูลแอพพลิเคชั่นใช้งานปั๊มชาร์จ

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ในเดือน พ.ย.นี้ ที่ประเทศอังกฤษ คาดการณ์ว่า ทางประเทศไทย จะต้องเข้าร่วมประกาศเป้าหมาย carbon neutrality เช่นเดียวกับประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อให้ไทยไม่ตกเทรนด์

วฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการ EGAT ProVenture การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในงานสัมมนา “เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังมา เตรียมชาร์จอย่างไรให้ปลอดภัย” ในหัวข้อ “ทำธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างไรให้ปลอดภัยและคุ้มค่าแก่การลงทุน” โดยระบุว่า การประชุม COP26 คาดหมายว่า ไทยจะประกาศเป้าหมาย carbon neutrality ภายในช่วงปี ค.ศ. 2560-2570   ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) จึงกำหนดเป้าหมายให้มีกำลังการผลิตรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะจากการใช้งาน หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) อย่างน้อย 30% ของการผลิต ในปี 2573  จึงได้แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะ 

ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการด้านการปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย 2.คณะอนุกรรมการด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานอีวี เช่น สถานีชาร์จ ระบบไฟฟ้า และแบตเตอรี่รถอีวี เป็นต้น 3. คณะอนุกรรมการด้านผลกระทบอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและภาคเกษตร 4. ด้านการส่งเสริมทางการเงิน

สำหรับ กฟผ. เองมอง EV Ecosystem ทั้งการส่งจ่ายไฟฟ้าจากสถานี ไปยังสถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง การเชื่อมต่อโครงข่ายรถอีวีในระบบขนส่งสาธารณะ ตลอดจนการพัฒนาแบตเตอรี่ เป็นต้น รวมถึงการนำแบตเตอรี่เก่าที่เหลือประสิทธิภาพการใช้งานเพียง 70-80% ให้นำกลับมาใช้เป็นแบตเตอรี่สำรองสำหรับระบบไฟฟ้าในอนาคต และ กฟผ.เองก็จะเป็นผู้ใช้รายใหญ่ โดยคาดว่ากลุ่มแบตเตอรี่รถอีวี รุ่นแรกๆที่จะหมดอายุในอีก 7-8 ปีข้างหน้า จะต้องนำกลับมารีไซเคิลใหม่ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมมือกับกรมโรงงานฯ ดำเนินการในเรื่องนี้

162487699787

ปัจจุบัน กฟผ.ได้จัดทำสถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT” ที่ชาร์จไฟได้รวดเร็ว และการ Swap แบตเตอรี่ในกลุ่มรถมอเตอร์ไซด์อีกทั้ง ยังอยู่ระหว่างเจรจากลุ่ม Fleets ต่าง 7-8 ราย เพื่อเข้าไปร่วมติดตั้งสถานีชาร์จ รวมถึงการให้บริการแอพพลิเคชั่น Elexa ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการหลังบ้านในรูปของ Platform และรับติดตั้งระบบหัวชาร์จไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ EGAT wallbox ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากสเปน มีทั้งขนาด 7-22 กิโลวัตต์ หากในอนาคตความต้องการมากขึ้น กฟผ.อาจตั้งป็นโรงงานผลิตหัวชาร์จเองได้

“หากประเทศไทยใช้งานรถอีวีได้ตามเป้าหมายของภาครัฐ และมีการเพิ่มพลังงานทดแทนในระบบไฟฟ้า รถอีวี ก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ ได้ 1ใน3 จากการปล่อยคาร์บอนฯ 100%”

ธนาเศรษฐ์ บุญเรศธนะ​พงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) หรือ PEA กล่าวว่า กฟภ.ได้เตรียมจัดทำความพร้อมในระบบไฟฟ้าให้สามารถสนับสนุนการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานใน 4 ด้าน ดังนี้ 1.การสนับสนุนด้านระบบไฟฟ้าของ กฟภ. หากเกิดการใช้งานรถอีวีจำนวนมากพร้อมๆกัน จะเกิดปัญหาขึ้นได้ ดังนั้น กฟภ.ได้จัดเตรียมงบประมาณราว 3,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

2.แผนงานติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTY 3.การพัฒนา PEA VOLTA Platform ได้จัดทำขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ขับขี่รถอีวีสำหรับค้นหาสถานีชาร์จของ กฟภ. และการชำระเงิน และ4.การสนับสนุนอัตรา EV Low Priority ซึ่งปัจจุบันภาครัฐกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดวัน เท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย ให้ใช้งานเป็นเวลา 2 ปี สำหรับผู้ที่ติดตั้งสถานีชาร์จและต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต

162487704547

นิธิ อาจองค์ ผู้อำนวยการกองธุรกิจระบบไฟฟ้า 1 การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) หรือ MEA กล่าวว่า ในส่วนของการสนันสนุนยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)นั้น ได้มีเป้าหมายจะต้องจัดหาระบบไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งานของรถอีวี จำนวน 6.6 ล้านคัน ภายใน 10ปีข้างหน้า ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงระบบสามาร์ทกริด และระบบสายส่งไฟฟ้าต่างให้สามารถรองรับกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯของภาคเอกชนที่จะเข้าสู่ระบบให้ได้ 3,000 เมกะวัตต์ในอนาคต รวมถึงจะต้องจัดทำระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage System) และการพัฒนาแพลตฟอร์ม(Energy Trading Platform) เพื่อให้เกิดความเสถียรในการใช้งานของระบบไฟฟ้า

ขณะที่ ปัจจุบัน กฟน.ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุง หรือ อัพเกรดแอพพลิเคชั่น MEA EV Platform เพื่อรองรับการใช้งานรถอีวี ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งจะพร้อมใช้งานในปี 2565 และพร้อมเปิดกว้างให้ทุกรายที่สนใจเข้ามาร่วมใช้บริการได้

กิตติ ศานต์พิริยะ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ในเครือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า บริษัท ยังเดินหน้าติดตั้งปั๊มชาร์จไฟฟ้า ให้ตามเป้าหมาย 1,000 สถานีทั่วประเทศ จากปัจจุบัน สถานีชาร์จรถอีวี ติดตั้งแล้ว 425 สถานี และสถานีชาร์จเรือไฟฟ้า ติดตั้งแล้ว 2 สถานี อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 สถานี สถานีชาร์จรถบัสไฟฟ้า ติดตั้งแล้ว 2 สถานี อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 6 สถานี

ส่วนการพัฒนาเรือไฟฟ้า (E-Ferry) ที่วิ่งเส้นทางสะพานพระนั่งเกล้าฯ-สาธร ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้งานวันละ 800 คน ต้องลงทุนสถานีชาร์จขนาด 4 เมกะวัตต์ใหญ่สุดในเอเชียแปซิฟิก ขณะที่รถ E-Bus เตรียมส่งมอบให้อู่รถร่วม ขสมก.ในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้ ขณะที่อุปกรณ์ชาร์จของบริษัท ถูกออกแบบตามมาตรฐานวิศวกรรม และผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจาก IEC Standard