สทท.ชงรัฐปั้น‘วัคซีนยกก๊วน เที่ยวไทยคึกคัก’ โพลล์ชี้หนุนล็อกดาวน์เข้มสกัดระลอกใหม่!
แม้ตัวเลขการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ภายในประเทศยังคงรุนแรง แต่ความหวังที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอยากจะเก็บเกี่ยวรายได้จาก “ตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ” เมื่อสถานการณ์คลี่คลายยังคงมีอยู่มาก!
สุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวว่า สทท.จะเสนอโครงการใหม่ “วัคซีนยกก๊วน เที่ยวไทยคึกคัก” ให้หน่วยงานรัฐพิจารณาเพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ เสริมทัพโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวของภาครัฐที่รอเปิดให้นักท่องเที่ยวจองสิทธิ 2 โครงการ ได้แก่ “ทัวร์เที่ยวไทย” จำนวน 1 ล้านสิทธิ และ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” ซึ่งเพิ่มอีก 2 ล้านสิทธิใหม่ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
แนวคิดโครงการใหม่นี้มาจากการเห็นตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนสะสมในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-24 มิ.ย. จำนวน 8,657,423 ราย เป็นกลุ่มที่ได้รับเข็มที่ 1 แล้ว 6,206,353 คน ฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 2,451,070 คน หากเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มได้ 50% คิดเป็น 1,225,535 คน ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 5,000 บาท เป็นเงินกว่า 6,127 ล้านบาท เมื่อคำนวณว่ามีเงินหมุนเวียน 3 รอบ จะสร้างเงินหมุนเวียนในระบบได้ถึง 18,383 ล้านบาท
รายงานข่าวจาก สทท. ระบุว่า ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการและประชาชนเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวปี 2564 เมื่อ 15-30 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งหมด 725 ราย จำนวน 87% เห็นว่ารัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 70% ของประชาชนทั้งประเทศภายในปีนี้ และ 30% เห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุนภาคเอกชนในการจัดหาและกระจายวัคซีนทางเลือกให้ประชาชน 21% มองว่าควรฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างน้อย 70% ในพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศภายในปีนี้ 16% เห็นว่าควรออกใบรับรองให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มและกำหนดให้สถานบันเทิงรับเฉพาะประชาชนที่มีใบรับรองเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะต้องมีมาตรการลงโทษ
สำหรับความเห็นของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสอย่างน้อย 70% เรียบร้อยแล้ว จากการสำรวจประชาชนภูเก็ต 400 คน เกาะสมุย 400 คน พัทยา 300 คน และเชียงใหม่ 400 คน พบว่ากรณีเปิดรับนักท่องเที่ยวคนไทย ประชาชนในภูเก็ต 15% เกาะสมุย 3% เชียงใหม่ 15% และพัทยา 11% ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวคนไทยที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
ประชาชนในภูเก็ต 97% เกาะสมุย 96% เชียงใหม่ 44% และพัทยา 85% ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวคนไทยที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจกับชาวเชียงใหม่มากกว่านี้ เพราะยังมีความกังวลอยู่ แม้ว่านักท่องเที่ยวคนไทยจะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม
ด้านความเห็นของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดและกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ประชาชนในภูเก็ต 12% เกาะสมุย 3% เชียงใหม่ 11% พัทยา 10% ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ประชาชนในภูเก็ต 74% เกาะสมุย 39% เชียงใหม่ 40% พัทยา 84% ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาวเกาะสมุยกับเชียงใหม่ยังมีความกังวลอยู่ แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสมาแล้ว
ความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่มีรายได้มากกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน 930 ราย ระหว่าง 15-30 พ.ค. เกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวในไตรมาส 3 พบว่า 82% ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดย 67% ต้องการฉีดภายในปีนี้ 15% ต้องการฉีดปีหน้า และ 50% ต้องการฉีดวัคซีนทางเลือก ส่วนใหญ่ต้องการฉีดไฟเซอร์ 36% รองลงมา ไม่เจาะจง เป็นยี่ห้อใดก็ได้ 26% ตามมาด้วยจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 11% แอสตร้าเซเนก้า 10% โมเดอร์นา 8% ซิโนแวค 7%
ประชาชน 35% ยอมรับราคาวัคซีนทางเลือกสูงสุดได้ที่ราคาไม่เกิน 500 บาท เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า 31% ยอมจ่ายค่าวัคซีนได้มากกว่าเข็มละ 1,500 บาท เมื่อได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 48% เห็นว่า “ความถี่ในการท่องเที่ยว” ยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือวัคซีนไม่ได้ทำให้เขาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น มีเพียง 19% เท่านั้นที่คิดว่าความถี่ในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าตอนที่ยังไม่ได้ฉีด
ขณะที่ประเด็น “การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไปในอนาคต หากมีการระบาดระลอก 4” ประชาชน 60% เห็นว่าควรล็อกดาวน์แบบเข้มข้นเหมือนการระบาดระลอกแรก เป็นเวลา 1 เดือน ด้วยการออกคำสั่งห้ามข้ามเขตจังหวัด ห้ามทำกิจกรรมที่ประชาชนจำนวนมากมารวมตัวกัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและให้การระบาดจบลงอย่างรวดเร็ว! แม้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจก็ตาม พูดง่ายๆ คือ “ยอมเจ็บ แต่จบ” อย่างรวดเร็วนั่นเอง อีก 27% เห็นว่าให้ประกอบกิจการได้ปกติ ประชาชนเดินทางได้อิสระ และต้องมีการรายงานจำนวนและไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อในแต่ละจังหวัดให้ทราบทุกวัน
ส่วนผู้ประกอบการ 53% เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควร “ล็อกดาวน์แบบเข้มข้น” เหมือนการระบาดระลอกแรกเป็นเวลา 1 เดือน ส่วน 36% เห็นว่าให้ประกอบกิจการได้ปกติ ประชาชนเดินทางได้อิสระ และต้องมีการรายงานจำนวนและไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อในแต่ละจังหวัดให้ทราบทุกวัน