บ้านปู เปิดแผนรุกธุรกิจพลังงานสะอาด บุกตลาดซื้อขายไฟฟ้าออสเตรเลีย

บ้านปู เปิดแผนรุกธุรกิจพลังงานสะอาด บุกตลาดซื้อขายไฟฟ้าออสเตรเลีย

“บ้านปู” นำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มธุรกิจในออสเตรเลีย มุ่งเมกะเทรนด์พลังงานสะอาด คงสัดส่วนธุรกิจถ่านหิน พร้อมเล็งโอกาสขยายพอร์ตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม ผลักดันสู่เป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตในมือแตะ 6,100 เมกะวัตต์ในปี 2568

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ Banpu เปิดเผยว่า บริษัท มีแผนเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด (Greener Portfolio) ในประเทศออสเตรเลีย หลังจากกลุ่มบ้านปู ได้จัดตั้ง บริษัท Banpu Energy Australia เพื่อดำเนินงานโดยจะมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ โครงการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  (Decarbonization Projects) การพัฒนาโซลูชันด้านพลังงาน (Energy Solutions) และการบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด (Portfolio Optimization) 

โดยล่าสุด ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl หรือ BSF) กำลังการผลิต 110.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มานิลดรา (Manildra หรือ MSF) กำลังการผลิต 55.9 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์  

นอกจากนี้ โครงการปั๊ม ไฮโดร เอ็นเนอจี สตอเรจ  (Pump Hydro Energy Storage Project) ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีและการวิจัยชั้นนำของโลกที่ทางบริษัทฯ ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งจากสำนักงานพลังงานทดแทนแห่งออสเตรเลีย (ARENA) และรัฐบาลของรัฐนิวเซาท์เวลส์ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำที่สามารถกักเก็บไว้ที่เหมืองใต้ดินในบริเวณที่ทำเหมืองเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำ จ่ายให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก

คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์  การจัดหาพลังงานหมุนเวียนผ่านนวัตกรรมในโครงการนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของ บ้านปู ให้ก้าวสู่เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

162521594672

อีกทั้ง บ้านปู ยังสนใจศึกษาธุรกิจเหมืองแร่ที่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Tech Minerals) ที่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานการผลิตเหมืองถ่านหินอยู่แล้ว และออสเตรเลียก็ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสินแร่แห่งอนาคตอยู่มากเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ บ้านปู เริ่มลงทุนธุรกิจในประเทศออสเตรเลียในปี 2552  โดยเริ่มต้นดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายถ่านหิน และจากการขับเคลื่อนกลยุทธ์ Greener & Smarter ทั่วทั้งองค์กร ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจในออสเตรเลียมีการต่อยอดด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) เข้ามาเพิ่มศักยภาพและเสริมความแข็งแกร่ง

สำหรับกลยุทธ์ Digital Transformation ของกลุ่มบ้านปู จะดำเนินการภายใต้แนวคิด Triple-Transformation Framework ได้แก่ ด้านธุรกิจ มุ่งสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหม่ผ่านการขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลโซลูชัน ตลอดทั้งระบบงานของธุรกิจอย่างไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพ ด้านเทคโนโลยี วางโครงสร้างการพัฒนาเทคโนโลยีจากนวัตกรรมที่ทันสมัย พัฒนาระบบการทำงานแบบ Agile สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ และผู้พัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และ ด้านบุคลากร  มุ่งบ่มเพาะดีเอ็นเอแบบ Agile สร้างค่านิยมการทำงานแบบ Hackathon ให้ทุกคนพร้อมทดลอง เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

162521605214

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ก่อตั้ง Digital Capability Center (DCC) ในประเทศออสเตรเลียขึ้นในปี 2561 เพื่อสร้างความสามารถภายในองค์กรในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของพนักงานและเครื่องจักรให้มีความแม่นยำ รวดเร็ว ลดข้อผิดพลาดจากทั้งมนุษย์ และอุปกรณ์

รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการบริหารต้นทุนที่เหมาะสม ที่ผ่านมาหน่วยงาน DCC ของออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปเสริมแกร่งการทำงานถึง 14 เคส ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่สำคัญ อาทิ แพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management Platform) ที่นำมาใช้ในการติดตามตรวจสอบการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์บน IIoT และการวิเคราะห์บนคลาวด์แพลตฟอร์ม ‘SwitchDin’ เพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานในทุกเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด Real-Time Condition Monitoring Using AI เป็นการนำอุปกรณ์ที่มีอยู่ (เช่น ปั๊ม มอเตอร์ คอมเพรสเซอร์ ฯลฯ) มาติดตั้งอุปกรณ์ IoT เพื่อเห็นมุมมองการทำงานของอุปกรณ์แบบองค์รวม

โดยสามารถตรวจสอบสภาพอุปกรณ์แบบเรียลไทม์ มีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าเมื่ออุปกรณ์เริ่มทำงานผิดปกติ รวมถึงนำข้อมูลที่ได้สำหรับการวางแผนงานเชิงป้องกันและการคาดการณ์ในอนาคต เป็นต้น