‘7แอร์ไลน์’หวั่นธุรกิจไม่รอด จี้รัฐเร่งปลดล็อก‘ซอฟท์โลน’
ซีอีโอ “7 สายการบิน" กระอักพิษโควิดระลอก 4 เริ่มแบกต้นทุนไม่ไหว เครื่องบินจอดสนิทกว่า 170 ลำ รวมพลังประสานเสียงกระทุ้งรัฐเร่งปลดล็อกซอฟท์โลน "5 พันล้าน" หวังต่อลมหายใจ อุ้มพนักงานกว่า 2 หมื่นชีวิต หลังรอคำตอบนานกว่า 478 วัน
ชี้กรณีเลวร้ายสุดหยุดบินนาน 3 เดือน หวั่นธุรกิจม้วนเสื่อ
วานนี้ (21 ก.ค.) ซีอีโอของ 7 สายการบินในไทย ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ นกแอร์ ไทยสมายล์ ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท ซึ่งเป็นสมาชิกของ “สมาคมสายการบินประเทศไทย” ออกแถลงการณ์ผ่านช่องทางออนไลน์ ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อธุรกิจสายการบินอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ พยุงการจ้างงาน
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า ทั้ง 7 สายการบิน ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องซอฟท์โลนที่รัฐบาลจะจัดสรรให้กับ 7 สายการบิน หลังจากสมาคมฯ ยื่นหนังสือไปตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก เมื่อเดือน มี.ค.2563 มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2563 เพื่อร้องขอให้เร่งพิจารณา โดยสมาคมฯได้ส่งหนังสือติดตามล่าสุดอีกครั้งเมื่อเดือน พ.ค.2564 พบว่ายังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล
“ธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่วันแรกที่ยื่นเรื่องขอซอฟท์โลน รวมกว่า 478 วัน ที่สมาคมฯ รอคอยคำตอบจากรัฐบาล จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณามาตรการซอฟท์โลนอย่างเร่งด่วน ล่าสุดปรับลดวงเงินเหลือ 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยประคองธุรกิจสายการบินและการจ้างงานพนักงานทั้ง 7 สายการบินซึ่งมีพนักงานรวมกันมากถึง 2 หมื่นคน ให้รอดพ้นจากวิกฤตินี้ และช่วยลดผลกระทบความเสียหายต่อการฟื้นฟูภาพรวมเศรษฐกิจและท่องเที่ยว เนื่องจากสายการบินเป็นธุรกิจต้นน้ำและฟันเฟืองสำคัญเชื่อมต่อการกระจายรายได้ของเศรษฐกิจไทย"
ในปี 2563 ภาพรวมผู้โดยสารลดลง 64.7% เทียบปี 2562 ผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลง 81.7% ส่วนผู้โดยสารภายในประเทศลดลง 44.9% จากการลดลงของเที่ยวบินในประเทศ 33.8%
- โอดเริ่มแบกต้นทุนไม่ไหว
ทั้งนี้ กว่า 1 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด ทั้ง 7 สายการบินได้พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเองและประคองธุรกิจให้รอดจากสถานการณ์อันยากลำบาก ด้วยการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มช่องทางหารายได้ บริหารฝูงบินและเส้นทางบินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอก 4 รัฐมีคำสั่งให้ระงับเที่ยวบินเกือบทั้งหมด ส่งผลให้สมาชิกสายการบินทั้ง 7 สายต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านปฏิบัติการบินและด้านบุคลากร
"การถูกสั่งให้หยุดบินนั้นเท่ากับว่ารายได้ที่จะเข้ามาเป็นศูนย์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงเท่าเดิม ขณะนี้ทุกสายการบินต่างประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และเริ่มแบกภาระต้นทุนไม่ไหว อาจส่งผลกระทบต่อการกลับมาให้บริการและการจ้างงานในอนาคต หวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติซอฟท์โลนโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว"
หากสุดท้ายแล้วไม่ได้ซอฟท์โลน ทั้ง 7 สายการบินคงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการปรับภายในองค์กร ทั้งด้านค่าใช้จ่ายและการดำเนินการด้านบุคลากรตามมาตรการของแต่ละสายการบิน เพราะเมื่อธุรกิจไม่มีรายได้ ก็ถึงเวลาต้องลดขนาดธุรกิจลง
"ผมเองก็ไม่อยากเห็นภาพนั้นเกิดขึ้นกับสายการบินในประเทศไทย” นายพุฒิพงศ์กล่าวย้ำ
- ลืมตาอ้าปากได้จริงแค่ 4-5 เดือน
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ช่วง 1 ปีครึ่ง สายการบินทำการบินในประเทศแบบลืมตาอ้าปากได้จริงแค่ 4-5 เดือน นอกนั้นได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์ คำสั่งห้ามบิน และการระบาดของโควิด-19 ทั้ง 4 ระลอก
โดยเฉพาะระลอก 4 ที่รัฐมีคำสั่งระงับการบินชั่วคราวในทุกเส้นทางบินเข้าออกพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่มวันที่ 21 ก.ค.เป็นต้นไป ทำให้ปัจจุบัน 7 สายการบินมีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวม 170 ลำ มีค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานทั้งสิ้นรวมเกือบ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีต้นทุนด้านการปฏิบัติการบินและการบำรุงรักษาเครื่องบินอีกจำนวนมหาศาล ขณะที่รายได้เป็น “ศูนย์”
- หยุดบิน3เดือนคาดไม่มีรายใดอยู่รอด
นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวเสริมว่า นับตั้งแต่สมาคมฯ ยื่นเรื่องขอซอฟท์โลนจากรัฐบาลครั้งแรก 2.4 หมื่นล้านบาท ก่อนปรับลดเหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท เมื่อต้นปี 2564 แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน กระทั่งล่าสุดได้ปรับลดเหลือเพียง 5,000 ล้านบาท เพื่อรักษาการจ้างงานในช่วงครึ่งปีหลังตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.นี้ โดยเงื่อนไขการขอรับเงินกู้ เนื่องจากสายการบินไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน จึงอยากให้พิจารณาแบบปลอดหลักประกัน สามารถพิจารณาจากใบอนุญาตทำการบินและสิทธิการบิน รวมถึงสภาวะของตลาดด้วย
“กรณีเลวร้ายที่สุดหากหยุดบินนาน 3 เดือน ประเมินว่าคงไม่เห็นสายการบินรายไหนอยู่รอดกันสักราย จึงอยากจะขอซอฟท์โลนจากรัฐบาล เพื่อประคองการจ้างงานถึงสิ้นปีนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ทั้ง 7 สายการบินได้ขอความร่วมมือจากพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ขอให้ลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างไปแล้ว”
นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ส กล่าวว่า อย่างช้าที่สุดที่ทั้ง 7 สายการบินรอซอฟท์โลนได้คือภายใน 1 เดือนนับจากนี้ซึ่งไม่สามารถทำการบินในประเทศได้
“แค่ 1 เดือนนี้ก็แทบจะขาดใจแล้ว ที่ผ่านมาสมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามทุกช่องทางที่จะหาซอฟท์โลนเพื่อพยุงการจ้างงาน เราไปขอพบมาหมดแล้ว ทั้งกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคมซึ่งมีเงินกองทุนสำหรับปล่อยกู้ แต่ยังติดขัดเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมระบุว่าช่วยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม"
ขณะที่ สายการบินเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ วงเงินที่จะช่วยเหลือได้คืออยู่ที่ 15 ล้านบาท โดยทางสำนักงานประกันสังคมคงจะต้องหาทางแก้ไขข้อจำกัดตรงนี้ เพื่อช่วยเหลือสายการบินถ้าสามารถทำได้
- วอนรัฐลดค่าใช้จ่ายอื่นอุ้มแอร์ไลน์เพิ่ม
นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า ภาระที่สายการบินแบกรับมากที่สุดในภาวะปกติคือต้นทุนค่าน้ำมัน แต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 คือต้นทุนค่าใช้จ่ายพนักงานที่ต้องหาทุกวิถีทางรักษาให้บริษัทและพนักงานอยู่รอด นอกจากนี้ยังมีต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าบำรุงรักษา ค่าธรรมเนียมและบริการในการใช้สนามบิน และอื่นๆ
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย เช่น ค่าบริการค่าจัดการจราจรทางอากาศ (Navigation Fee) และลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยานอย่างต่อเนื่อง จากปีที่แล้วกระทรวงการคลังปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตฯจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.2 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือถึงสิ้นปีนี้แล้วก็ตาม
- คาดบินอินเตอร์ฯฟื้น50%กลางปี 65
นายนัตดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า การเปิดประเทศขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยสำคัญ คือจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยและอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 จะลดลงแค่ไหน รวมถึงการยอมรับของประเทศคู่ค้าว่ามีความมั่นใจ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวของชาตินั้นๆ เดินทางเข้าไทยได้มากน้อยแค่ไหน
“อาจจะมีความพยายามเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้บ้างในช่วงปลายไตรมาส 4 นี้ และถ้า 2 ปัจจัยข้างต้นดีขึ้น คาดว่าไตรมาส 1 ปี 2565 น่าจะเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมากขึ้น และทุกอย่างน่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทางกลางปี ทำให้ตลาดการบินระหว่างประเทศเริ่มฟื้นตัว 40-50%”