'สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย'เสนอ 6 มาตรการ หวังรัฐบาล ช่วยเหลือmSMEs
"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย"เสนอรัฐ ช่วยเหลือ mSMEs 6มาตรการ"พักต้น พักดอก 6 เดือน-ลดอดอกเบี้ยเงินกู้ 4% ต่อปี นาน2 ปี-ยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร 2ปี-มาตรการกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ-เร่งดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ณ วันที่ 22 ก.ค. 2564 ซึ่งมีผลทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 1 หมื่นคนต่อวัน ทำให้รัฐบาลต้องประกาศให้มีการหยุดการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจและขอให้ภาคเอกชนทำงานจากที่บ้านอีกครั้ง ซึ่งการระบาดของโควิด19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ผู้ประกอบการ mSMEs จำนวนมากมีรายได้ไม่แน่นอน และขาดรายได้อย่างยาวนาน
รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง ประกอบกับมาตรการต่างๆของภาครัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโดยกําหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด ทัวทุกภูมิภาคของประเทศส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ mSMEs โดยตรงเป็นวงกว้างทั่วประเทศ
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และภาคีพันธมิตรเครือข่าย ทั้ง 24 องค์กร จึงได้ประชุมร่วมกัน และมีมติให้เสนอมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้
1.มาตรการพักต้น พักดอก ตลอดระยะเวลา 6 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น สำหรับกลุ่มลูกหนี้ mSMEs เดิม ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ให้เป็นหนี้เสียหรือ NPLs เพราะการแพร่ระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ ส่งผลต่อผู้ประกอบการ mSMEs อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การพักต้น พักดอกเบี้ย ไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น และยืดระยะเวลาการชำระออกไป จะช่วยให้ต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ mSMEs ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตต่อไป
2. มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
2.1 สำหรับ mSMEs ที่มีสินเชื่ออยู่ในระบบสถาบันการเงิน เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดีไม่เป็น NPLs มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปีสูงกว่าร้อยละ 5 ให้ลดลงมาคงที่ในอัตราร้อยละ 4 โดยรัฐบาลช่วยอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยส่วนที่ลดให้กับลูกหนี้เดิมแก่สถาบันการเงินร้อยละ 1 เนื่องจาก ในปัจจุบันดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินทั้งภาคธนาคารและนอกภาคธนาคารเรียกเก็บมีการคิดอัตราดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการ mSMEs ในอัตราที่สูง เมื่อพิจารณาจากพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่บังคับใช้โดยทั่วไป ให้ดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี แต่สถาบันการเงินอาศัยอำนาจตามประกาศ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราตามกฎหมายดังกล่าวได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับพระราชกำหนดที่ลดอัตราดอกเบี้ย จึงขอเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการ mSMEs ไม่เกินอัตราร้อยละ 4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี
2.2 สำหรับ mSMEs ที่มีสินเชื่ออยู่กับแหล่งเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดีไม่เป็น NPLs มีอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการที่สูงมาก จึงขอเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการลดลงมากึ่งหนึ่ง จนครบอายุสัญญา
3.มาตรการสินเชื่อ Soft Loan สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท พิจารณากำหนดวงเงินให้กู้จากกระแสเงินสดสุทธิจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่นำงบการเงิน มาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้เนื่องจากงบการเงินของผู้ประกอบการ mSMEs อยู่ในระหว่างการปรับตัวเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว จึงไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างสะท้อนความเป็นจริง ผู้ประกอบการ mSMEs มักจะใช้การหมุนเวียนเงินจากเงินสดในมือและเงินฝากธนาคารเป็นหลักในการดำเนินกิจการ การวิเคราะห์การให้สินเชื่อจึงควรวิเคราะห์จากกระแสเงินสด
4. มาตรการยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร เนื่องจากจากสถานการณ์ปัจจุบัน แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 เมื่อพิจารณาผลประกอบการของสถาบันการเงินกลับมีความเข้มแข็งมากขึ้น การพิจารณาให้สินเชื่อพิจารณาจากข้อมูลเครดิต หรือเครดิตบูโร ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลกระทบที่ไม่ดีต่อข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบการ mSME อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบการ ดังนั้น จึงขอเสนอให้สถาบันการเงินไม่นำข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร ในช่วงการแพร่ระบาดมาพิจารณาการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ mSMEs เป็นระยะเวลา 2 ปี
5. มาตรการกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ ในปัจจุบันได้มีการยกร่าง พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ. …. เนื่องจากที่ผ่านมา mSMEs จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ ทำให้เกิดหนี้นอกระบบเติบโตขึ้นอย่างมากมาย การที่มีกองทุน นี้เป็นการเปิดโอกาสให้ mSMEs สามารถสร้างแต้มต่อให้ mSMEs มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ แข่งขันได้มากขึ้น และมีระบบบ่มเพาะสร้างการเติบโตในอนาคต
รวมทั้งทำให้ mSMEs เข้าสู่ระบบฐานภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งกองทุนนี้จะเป็นเรือธงทำให้เกิดการบริหารสินเชื่อในกองทุนได้คล่องตัว และมีเกณฑ์ที่ผ่อนปรนไม่ใช้เกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงขอให้ผลักดันกองทุนนี้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และขอเสนอให้มีคณะกรรมการบริหารที่ต้องให้สัดส่วนของภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน สื่อมวลชนที่สามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกระดับ โดยให้มืออาชีพเข้ามาบริหารกองทุน รวมทั้งต้องจัดระบบผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาธุรกิจ mSMEs เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ มีวินัยทางการเงิน บัญชี และเพิ่มขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง
6. กองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 มีสินเชื่อทั้งหมด 17,376,812 ล้านบาท สินเชื่อชั้นปกติ 15,726,823 ล้านบาท สินเชื่อชั้นกล่าวถึงพิเศษ (ไฟเหลือง) 1,112,851 ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 537,138 ล้านบาท แต่มีปัญหา mSMEs จำนวนมากที่ติดกับดักทางการเงินเป็น NPLs ปัจจุบันกว่า 241,734 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.34 ของวงเงินสินเชื่อ mSMEs ทั้งระบบ 3,292,457 ล้านบาท (ไตรมาส 1 ปี 2564 ธปท.) ซึ่งหากประเมินสถานการณ์กลุ่มสินเชื่อที่มีแนวโน้ม NPLs (ไฟเหลือง) จะพบว่ามีถึง 432,563 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.14 ของวงเงินสินเชื่อ mSMEs ทั้งระบบ โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดโควิด 19 ถึง 258,519 ล้านบาท (ไตรมาส 4 ปี 2562 ธปท.)
กองทุนนี้จะช่วยให้ mSMEs ที่เป็น NPLs จากผลกระทบโควิด 19 และก่อนหน้านี้ ได้รับการดูแล แก้ไข ปรับปรุงหนี้อย่างเป็นระบบ และสามารถถอดบทเรียน บ่มเพาะให้ mSMEs เหล่านี้กลับสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ และอยู่ในระบบฐานภาษีของรัฐ จึงขอให้ทางรัฐบาลเร่งดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย เป็นการด่วนเพื่อให้ทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และภาคีพันธมิตรเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มาตรการดังกล่าวข้างต้น จะได้รับการตอบสนองและพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ทุกภาคส่วนผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน