ร้านอาหาร ‘สับสน’ รัฐเคาะ-ไม่เคาะ ให้ซื้อกลับบ้าน
ร้านอาหาร ประชาชนทำตัวไม่ถูก หลังรัฐไม่ชัดเจนให้ "ซื้อกลับบ้าน" จากเดิมคลายล็อกให้ร้านในห้างเปิด "เดลิเวอรี่" ได้เท่านั้น ผู้ประกอบการแนะ ฟังความเห็นรอบด้าน ก่อนเคาะมาตรการ ห่วงรัฐหมดความน่าเชื่อถือ
“ร้านอาหาร” ต้องติดตามการประกาศนโยบายคลายล็อกน์ธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพราะหลังจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งทะลุหลัก “หมื่นคนต่อวัน” รัฐจึงงัดไม้แข็งกำราบโรค และจำกัดการทำธุรกิจ สั่งปิดร้านอาหารในห้างค้าปลีก ห้ามรับประทานในร้าน(Dine in) รวมถึงการ “ซื้อกลับบ้าน” และ “เดลิเวอรี่” ทำผู้ประกอบการโอดครวญหนัก เพราะเป็นครั้งแรกที่ขายสินค้าไม่ได้ 100%
ประกาศจากรัฐทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวจ้าละหวั่น หาพื้นที่นอกห้างเปิด “ครัวกลาง” และจุดกระจายสินค้าให้ผู้บริโภค ไรเดอร์ มาซื้อกลับบ้าน บริการเดลิเวอรี่
ล่าสุด รัฐคลายล็อกให้ร้านอาหารในห้าง บริการเดลิเวอรี่ได้เท่านั้น ทำเอาอลหม่าน และผู้บริโภคค่อนที่อยู่นอกบ้านอยู่แล้ว ต้องแสดงความเห็นตามล่าหา “เสื้อไรเดอร์” หวังสวมรอยไปซื้ออาหารกลับบ้าน
ความไม่ชัดเจนของมาตรการรัฐ ยังไม่หมด เพราะล่าสุด 3 สิงหาคม รัฐส่งสัญญาณจะอนุญาตให้ร้านอาหารในห้างเปิดบริการ “ซื้อกลับบ้าน” ได้ด้วย แต่ ห่างกันไม่ถึง “ชั่วโมง” กลับเตรียมเปลี่ยนนโยบายอีกครั้ง
บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ผู้บริหารร้านปิ้งย่างอากะ ร้านอาหารญี่ปุ่นเซน เขียง ออน เดอะ เทเบิ้ล ฯ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารดีใจเพียง 40 นาที แต่หลังจากนั้นทราบว่านโยบายรัฐเปลี่ยนอีกครั้ง ไม่อนุญาตให้ซื้อกลับบ้านแล้ว
ทั้งนี้ มองว่ารัฐควรอนุโลมให้ร้านอาหารในห้างสามารถบริการซื้อกลับบ้านได้ ไม่ใช่แค่ทำเดลิเวอรี่เท่านั้น เพราะไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่ออกจากบ้านไปซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ยกเว้นให้เปิดได้ นอกจากซื้อของเข้าบ้าน อาจมีการไปสั่งซื้ออาหารเพื่อนำไปรับประทานที่บ้านด้วย
“การอนุญาตให้ซื้อกลับบ้าน ถูกยกเลิกไปก่อนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จากการประกาศของรัฐ ในฐานะผู้ประกอบการเราเข้าใจว่าไม่ควรให้เปิดบริการซื้อกลับบ้าน เพราะไม่ต้องการให้คนออกจากบ้าน กลัวไปออกันที่ร้านอาหาร แต่ในความเป็นจริง ตอนนี้ประชาชนกลัว ไม่กล้าออกจากบ้านกันอยู่แล้ว ไปซูเปอร์มาร์เก็ตไม่เห็นคนแออัดแล้ว”
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐให้เปิดบริการแค่เดลิเวอรี่ ไม่ใช่ร้านอาหารทุกรายที่กลับไปเปิดครัวที่ห้างค้าปลีก ยิ่งเป็นร้านที่อยู่ชั้นบนของห้าง ทำได้ยาก เพราะนอกจากห้างไม่เปิดระบบปรับอากาศให้ ไรเดอร์ที่ไปรอรับอาหารต้องอยู่พื้นที่ภายนอกเท่านั้น การที่พนักงานจะลงไปส่งจึงค่อนข้างลำบาก เนื่องจากต้องลงบันได ลิฟท์ไม่เปิด สภาพดังกล่าวไม่เอื้อต่อการทำงานเลย
ขณะที่บางแบรนด์ ร้านอาหารบางประเภท เช่น ฟาสต์ฟู้ด อาหารจานด่วนต่างๆ เหมาะกลับไปเปิดเดลิเวอรี่ในห้าง หากมีร้านชั้นล่าง ใกล้บริเวณที่จอดรดซึ่งไรเดอร์มารับอาหารง่าย สำหรับเซ็นฯ มีร้านอาหารที่กลับมาเปิดเดลิเวอรี่ 35 สาขา จากทั้งหมดทำได้ราว 70 สาขา ส่วนการเปิดครัวกลางนอกห้าง ยังคงเดินหน้าและจะผลักดันให้เป็นโมเดลธุรกิจใหม่สร้างการอยู่รอดในระยะยาว
“ก่อนหน้านี้เราต้องทำคลาวด์คิทเช่นนอกห้าง มาคราวนี้ต้องทำคลาวด์คิทเช่นในห้าง”
พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)หรือ TFMAMA ซึ่งมีร้านราเมง “โคราคุเอ็น” กล่าวว่า การออกคำสั่งของภาครัฐที่ไม่ชัดเจน ไม่นิ่งมีผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล จึงควรฟังความเห็นของทุกฝ่ายให้รอบด้าน พิจารณาให้รอบคอบแล้วค่อยออกนโยบาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ การให้ร้านอาหารเปิดบริการเดลิเวอรี่ ในทางปฏิบัติไม่มีปัญหา ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้ไรเดอร์ทั้งนั้น แต่สำหรับผู้บริโภคที่ออกจากบ้าน ไปซูเปอร์มาร์เก็ต อาจต้องการสั่งอาหารทิ้งไว้ แล้วไปซื้อสินค้าจะมารับอาหารกลับบ้าน แต่กลับทำไม่ได้ เป็นการออกประกาศที่ส่งผลต่อความรู้สึกประชาชน แม้จะเข้าใจวัตถุประสงค์รัฐไม่ต้องการให้ออกจากบ้านก็ตาม