เช็คก่อนร่วม มาตรการ 'หนี้' ช่วง 'โควิด-19' แต่ละแบบอย่างกันอย่างไร ?

เช็คก่อนร่วม มาตรการ 'หนี้' ช่วง 'โควิด-19' แต่ละแบบอย่างกันอย่างไร ?

เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย มาตรการช่วย "ลูกหนี้" จัดการ "หนี้" ช่วง "โควิด-19" 5 แบบ ได้แก่ พักชำระเงินต้น, พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย, ปรับลดอัตราดอกเบี้ย, พักหนี้ และ ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ต่างกันอย่างไร เลือกแบบไหนดี ?

ปัญหาทางการเงินที่หลายคนประสบอยู่ในตอนนี้ คือ "ชำระหนี้" ในสภาวะที่รายได้หรือรายรับลดลง หรือมีโอกาสลดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ สำหรับคนที่ยังจ่ายไหวไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมากควรที่จะจ่ายต่อไปตามเดิม

แต่สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รายได้ลด ตกงาน หรือเหตุใดก็ตามที่ทำให้ไม่สามารถ "จ่ายหนี้" ได้ตามปกติ ได้เวลาที่จะต้อง "เจรจาหนี้" กับ " เจ้าหนี้" อย่างจริงจัง เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ โดยปัจจุบัน มีมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่แต่ละธนาคารประกาศออกมาเพื่อช่วยเหลือ 

ทว่า สิ่งที่ "ลูกหนี้" ไม่ควรละเลย คือทำความเข้าใจเงื่อนไขเหล่านี้ก่อนเข้าร่วมมาตรการ โดยรูปแบบของมาตรการที่ช่วยเหลือลูกหนี้ที่พบบ่อยในช่วงนี้ แบ่งออกได้เป็น 5 มาตรการหลักๆ ที่มีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันออกไป ดังนี้ 

162805200989

  •  รูปแบบที่ 1 พักชำระเงินต้น 

ข้อดี: ชำระเฉพาะดอกเบี้ย ไม่ต้องจ่ายเงินต้น

ข้อเสีย: จำนวนเงินต้นก็ยังคงเดิมไม่ได้มีการลดลง สรุปแล้วเมื่อครบกำหนดการพักชำระ จำนวนเงินต้นก็ยังเหลือเท่าเดิม

  •  รูปแบบที่ 2 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 

ข้อดี: เลื่อนกำหนดชำระหนี้สินทั้งหมดออกไปก่อน ไม่ต้องชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

ข้อเสีย: อัตราดอกเบี้ยก็ยังถูกคิดอยู่ดังเดิม เพราะฉะนั้น เมื่อครบกำหนดพักชำระตามที่ระบุไว้ ภาระหนี้ทั้งต้นทั้งดอกก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ระยะเวลาการผ่อนบ้านยาวนานขึ้นอีก

  •  รูปแบบที่ 3 ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 

ข้อดี: ผ่อนชำระรายเดือนตามปกติ แต่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ลดภาระที่จะต้องจ่ายรายเดือนลงได้ระดับหนึ่ง โดยเปอร์เซ็นต์ในการลดลงจะขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร

ข้อเสีย: อาจช่วยลดภาระที่ต้องจ่ายในรายเดือนได้ไม่มากนัก

  •  รูปแบบที่ 4 พักหนี้ 

ข้อดี: เลื่อนกำหนดชำระหนี้สินทั้งหมดออกไปก่อน ไม่ต้องชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และในระยะเวลานั้นจำนวนหนี้ก็ไม่เพิ่มขึ้น หมดกังวลเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่ง

ข้อเสีย: จำนวนเงินต้นเหลือคงเดิม ระยะเวลาผ่อนอาจจะยาวนานขึ้น

  •  รูปแบบที่ 5 ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ 

ข้อดี: เป็นการปรับโครงสร้างของหนี้ใหม่ทั้งหมด คล้ายการรีไฟแนนซ์กับธนาคารเดิม กระจายอัตราการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ช่วยลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน

ข้อเสีย: ระยะเวลาการผ่อนยาวนานขึ้น

จะเห็นได้ว่าแต่ละมาตรการมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน และย่อมส่งผลต่อการบริหารจัดการหนี้ที่แตกต่างกันออกไปด้วย ดังนั้นนอกจากจะเข้าร่วมมาตรการต่างๆ แล้ว อย่าลืมที่จะวางแผนชำระหนี้หลังจากที่มาตรการจบลงด้วยที่จะช่วยให้สามารถวางแผนการเงินในช่วงวิกฤตินี้ได้ง่ายขึ้นด้วย