'เสนาะ' ถอดบทเรียน 'อีสเทิร์นซีบอร์ด' ยกระดับ 'อีอีซี' สู่เขตเศรษฐกิจพิเศษระดับโลก

'เสนาะ' ถอดบทเรียน 'อีสเทิร์นซีบอร์ด' ยกระดับ 'อีอีซี' สู่เขตเศรษฐกิจพิเศษระดับโลก

“เสนาะ อูนากูล” ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์อีอีซี ถอดบทเรียนความสำเร็จ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” สู่ “อีอีซี” ระบุอีอีซีจะมีบทบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ชี้ 6 เมกะเทรนด์สร้างการเติบโต - ยั่งยืน แนะบันได 5 ขั้นยกระดับอีอีซีสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษระดับโลก

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแนวทาง และวางแผนที่พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเข้มแข็งเพื่อโอกาสในการเติบโตต่อไปในอนาคต หนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ภาครัฐและภาคเอกชนเห็นตรงกันว่ามีศักยภาพเป็นหัวขบวนการพลิกฟื้นเศรษฐกิจรอบใหม่ได้ คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งในแผนที่จะปรับปรุงใหม่ระยะ 5 ปี (2565-2570) ในอีอีซีจะลงทุนมากถึงปีละ 6 แสนล้านบาท

ความสำคัญของ “อีอีซี” ในปัจจุบันจึงไม่ต่างจาก “อีสเทิร์นซีบอร์ด” เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ที่เคยพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจประเทศอย่างมาก

“ดร.เสนาะ อูนากูล” อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในรัฐบาล “อานันท์ ปันยารชุน” และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มีบทบาทในการผลักดันการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ "Eastern Seaboard" (ESB) และปัจจุท่านบันรับหน้าที่ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

ดร.เสนาะ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเจอกับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งหลายฝ่ายอาจจะมีความกังวลว่าจะกระทบกับโครงการอีอีซี จนมีคำถามว่าอีอีซีจะไปรอดหรือไม่ แล้วจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร โดยคำถามนี้ในฐานะประธานที่ปรึกษาฯ และได้เฝ้าติดตามการทำงานของอีอีซีมาตั้งแต่ต้น ยังมีความเชื่อมั่นว่าหากประเทศไทยสามารถที่จะพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้ภายใน 1-2 ปี ข้างหน้าโครงการอีอีซีจะไปรอด และจะมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลังโควิดได้มากด้วย

หัวใจสำคัญของอีอีซี คือ ความต่อเนื่องของโครงการและ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่ประกันความต่อเนื่องได้ นอกจากนั้นผลงานในการดำเนินโครงการใหญ่ของอีอีซี เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ล้วนผ่านอุปสรรคใน 2-3 ปีแรก มาจนผ่าน “Point of no return” แล้ว แม้ผลจากโควิด-19 อาจกระทบโครงการอู่ตะเภาบ้างแต่เชื่อยังเดินต่อได้

“การได้ใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.อีอีซี ทำให้การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนสะดวกขึ้นมาก ช่วยประหยัดงบประมาณรัฐได้มาก เป็นเรื่องจำเป็นในภาวะที่รัฐมีภาระงบประมาณและการกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤติโควิด-19”

162910268281

“ดร.เสนาะ” กล่าวว่า อีกเหตุผลที่อีอีซีช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้มากหลังวิกฤติโควิด-19 และจะทำให้อีอีซีกลายเป็นเขตพิเศษระดับโลกได้ คือ อีอีซีจับเมกะเทรนด์ของโลกได้ลงตัวหลายเรื่อง ได้แก่ 

1.การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและรุนแรง 2.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล 3.การมีบทบาทอย่างมากของจีนในโลกยุคใหม่ และภูมิรัฐศาสตร์ที่มีมหาอำนาจหลายขั้ว ซึ่งทำให้เทคโนโลยีของจีนไหลมาอีอีซีมากขึ้น โดยบริษัทชั้นนำของจีน เช่น หัวเว่ย ประกาศใช้ไทยเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน

4.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ซึ่งตรงเป้าหมายอีอีซีที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และในอีอีซีจะมีโครงการลงทุนประเภทถ่ายทอดองค์ความรู้ การใช้เทคโนโลยีแบบเข้มข้น ซึ่งไม่ใช่การลงทุนแบบอดีตที่ใช้ทรัพยากรเข้มข้น และเน้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานสะอาด รถไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

5.อีอีซีจะเน้นแนวโน้มการลงทุนด้านสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ โดยอีอีซีต้องเน้นเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพมากขึ้น และข่าวที่น่ายินดี คือ เกาหลีใต้ ซึ่งไม่ค่อยลงทุนในไทยนัก แต่ปัจจุบันข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่าประเทศที่มาลงทุนในไทยมากที่สุดประเทศหนึ่ง คือ เกาหลีใต้ และสนใจทางด้านสุขภาพเป็นพิเศษ ดังนั้น อีอีซีควรติดตามประเด็นนี้

6.การเป็นเมืองและการเติบโตของเมือง ซึ่งต่อเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการพัฒนาเมือง เช่น การลงทุน 5G ซึ่งไทยประมูลก่อนประเทศอื่น และทำให้อีอีซีพร้อมใช้ 5G พัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ครอบคลุมเมืองการบินที่มีการนำร่องโครงการ 5G อ.บ้านฉาง จ.ระยอง และเมืองพัทยา จ.ชลบุรี 

นอกจากนี้มีโรงงานในอีอีซีนับหมื่นแห่งที่จะทำเป็น Smart factory ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์มาก รวมทั้งสิ่งที่ควรทำต่อเนื่อง คือ Smart farming เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นจุดแข็งของไทย

162910271026

ในอนาคตอีอีซีมีศักยภาพที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระดับโลกได้เหมือนกับที่อีสเทิร์นซีบอร์ด โดยมี 5 ขั้นตอนสำคัญที่ต้องทยอยเดินหน้า โดยเริ่มจากการป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระดับอาเซียนและยกระดับเป็นสากล ได้แก่

1.สร้างผลเชิงประจักษ์ของความสำเร็จในอีอีซีอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการยอมรับและสนับสนุนในวงกว้าง

2.การขยายผลความสำเร็จของอีอีซีที่เป็น “พื้นที่ต้นแบบ” ไปสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคอื่น ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ โดยกำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจอละสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่ใช้ความแตกต่างและศักยภาพแต่ละพื้นที่เพื่อต่อยอดการพัฒนา

3.ผลักดันให้อีอีซีเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางอาเซียนทั้งการขนส่ง การสื่อสาร และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัล 4.ผลักดันอีอีซีให้เป็น “ศูนย์กลางการลงทุน” และ “เขตเศรษฐกิจพิเศษระดับเอเชีย” ผ่านเวทีนานาชาติ เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาค (อาร์เซ็ป) โดยใช้ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์

5.ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่เป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย” ผลักดันอีอีซีกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความสำคัญระดับโลกในที่สุด