ทูตอิหร่านรำลึกเชค อะฮ์หมัด วาระ 70 ปีสัมพันธ์การทูต

ทูตอิหร่านรำลึกเชค อะฮ์หมัด  วาระ 70 ปีสัมพันธ์การทูต

สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย เผยแพร่สุนทรพจน์ ดร.นัสเซเรดดิน ไฮดาริ เอกอัครราชทูต เนื่องในวาระรำลึกเชค อะฮ์หมัด กุมมี และครบรอบ 70 ปี แห่งการความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิหร่านและไทย

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ดร.นัสเซเรดดิน ไฮดาริ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ร่วมงานรำลึกเชค อะฮ์หมัด กุมมี (เฉกอะหมัด) ณ สุสานที่ จ.อยุธยา พร้อมออกแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ 70 ปี แห่งการความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิหร่านและไทย สรุปความได้ว่า เชค อะฮ์หมัด กุมมี เป็นทั้งนักวิชาการศาสนาและพ่อค้าที่ได้อพยพมาสู่แผ่นดินสยามเมื่อ 420 ปีก่อน และเป็นผู้ที่เริ่มต้นสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ศาสนา และประชาชนระหว่างสองอารยธรรมอันเก่าแก่ ได้แก่ อิหร่านและไทย  ทูตอิหร่านรำลึกเชค อะฮ์หมัด  วาระ 70 ปีสัมพันธ์การทูต

การอพยพของท่านเชคอะฮ์หมัด กุมมี มายังประเทศไทย ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ร่วมระหว่างอิหร่านและไทย และเป็นสายสัมพันธ์เก่าแก่ของทั้งสองประเทศ การเดินทางและชีวิตของนักวิชาการศาสนาและพ่อค้าชาวเปอร์เซียที่ได้รับตำแหน่งทางการเมืองและศาสนาที่สำคัญที่สุดในสมัยนั้น ควรเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าประทับใจสำหรับคนไทยและคนทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมเปอร์เซียและอิสลามในวัฒนธรรมของไทยโดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ประเทศไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า ซึ่งแสดงถึงความอยู่ร่วมกันอย่างเสรีของเชื้อชาติ ศาสนา และชนชาติต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยได้เปิดรับความคิดและวัฒนธรรมจากต่างชาติอย่างกว้างขวาง และไม่เคยละเลยต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก

เชคอะฮ์หมัด กุมมี ในสมัยนั้น ได้ใช้ความเฉลียวฉลาดและความมุ่งมั่นของท่านในสภาพแวดล้อมที่เสรี จนได้กลายเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ และเป็นบุคคลมุสลิมที่ได้รับความไว้วางใจจากกษัตริย์จนได้รับตำแหน่งสูงสุดในราชการ

ต่อมา ท่านได้เป็นผู้นำของชุมชนมุสลิมในประเทศไทย ด้วยความเสียสละและการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  ทำให้มีชาวไทยจำนวนมากหันมานับถือศาสนาอิสลาม เชคอะฮ์หมัดได้ฝากภาพลักษณ์ที่ดีของชาวอิหร่านไว้ในใจของคนไทย และในฐานะนักวิชาการศาสนาชีอะห์ ท่านได้สถาปนามิตรภาพ ความซื่อสัตย์ และความจริงใจในฐานะมุสลิมแท้จริง กลายเป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ

ทูตอิหร่านกล่าวด้วยว่า การรวมตัวกัน ณ สุสานเพื่อระลึกถึงเชค อะฮ์หมัด กุมมีในฐานะบุคคลผู้เป็นสะพานเชื่อมโยงสองวัฒนธรรมยิ่งใหญ่ เรื่องราวชีวิตที่น่าทึ่งของเชค อะฮ์หมัด กุมมี และตระกูลของท่านในประเทศไทย เป็นสัญลักษณ์ของคุณค่าทางวัฒนธรรมร่วมระหว่างอิหร่านและไทย ที่มีรากฐานจากอารยธรรมอันเก่าแก่ของทั้งสองแผ่นดิน ความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งและอิทธิพลของเชค อะฮ์หมัด กุมมี ทำให้คนไทยยอมรับท่านด้วยความอบอุ่น และทุกปีที่สุสานของท่าน จะมีการรำลึกและสดุดีถึงความดีงามของท่าน

"ในฐานะเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย ข้าพเจ้าขอขอบคุณผู้จัดงานอันทรงเกียรตินี้ และขอแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในพิธีนี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความภาคภูมิใจในเชค อะฮ์หมัด กุมมี ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมสองประเทศ

ในโอกาสครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิหร่านและไทยในปีหน้า ข้าพเจ้าเสนอให้การรำลึกถึงเชค อะฮ์หมัด กุมมี เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตลอดทั้งปี และจัดการประชุมร่วมกันในประเทศไทยหรืออิหร่าน โดยเชิญนักวิชาการและลูกหลานของเชคอะฮ์หมัดเข้าร่วม"