กัญชงกับศักยภาพการเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่

กัญชงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากหลังจากรัฐบาลประกาศปลดล็อคให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้

กัญชงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากหลังจากรัฐบาลประกาศปลดล็อคให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้ ด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลายประกอบกับความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการที่ไทยมีความสามารถด้านการเพาะปลูกและการผลิตสูง ทำให้กัญชงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย สามารถต่อยอดเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มหาศาล
การปลดล็อคการประกอบธุรกิจกัญชงในไทยได้สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่ โดยแยกพิจารณาได้ดังนี้
อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ จัดหาเมล็ดพันธุ์ พัฒนาสายพันธุ์พืช เพาะปลูก ตั้งแต่การจัดหา/นำเข้าเมล็ดพันธุ์ (ที่มิใช่การปลูก) จำหน่ายเมล็ดพันธุ์เพื่อนำมาเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ (ขายทั้งต้นหรือบางส่วนของพืช) รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์พืชเป็นของตนเอง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน แปลงทดลองของมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาต่างๆ หรือผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำที่เริ่มทดลองปลูกเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน หรือหน่วยงานภาครัฐ
อุตสาหกรรมกลางน้ำ ได้แก่ โรงสกัด สารสกัด น้ำมัน ผลิตภัณฑ์กัญชง ผู้ประกอบการที่ทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบขั้นต้น เช่น การสกัดสาร CBD ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการผลิตน้ำมันจากเมล็ดกัญชง ผงกัญชง กากกัญชง ด้ายกัญชง ใยกัญชง เป็นต้น โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม อาหาร เครื่องดื่ม
อุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มที่นำสารสกัด หรือผลิตภัณฑ์กัญชงขั้นกลางมาเป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ อุตสาหกรรมขั้นปลายที่น่าจะมีศักยภาพและมีการนำกัญชงไปใช้มากที่สุดสามารถจัดแบ่งเป็น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ ดังนี้ (1) เครื่องดื่ม ประกอบด้วย เครื่องดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่มให้พลังงาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และสมุนไพรพร้อมรับประทาน (2) อาหาร ประกอบด้วยเครื่องปรุงอาหาร เบเกอรี่ อาหารเส้นและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซีเรียลและธัญพืช ขนมขบเคี้ยว (3) ยาและอาหารเสริม รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพทางกีฬา วิตามิน ผลิตภัณฑ์จัดการน้ำหนัก และผลิตภัณฑ์สมุนไพรดั้งเดิม (4) เครื่องแต่งกายและรองเท้า และ (5) ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ประกอบด้วย สบู่ แชมพู ยาสีฟัน น้ำหอม น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และเครื่องสำอาง
วิจัยกรุงศรีคาดว่า ในปี 2564 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีกัญชงผสมจะมีมูลค่า 280 ล้านบาท รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง 240 ล้านบาท ยาและอาหารเสริมจากกัญชง 50 ล้านบาท เครื่องแต่งกายที่ทำด้วยใยกัญชง 30 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลประเมินว่ายังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหลักในปีแรก ทั้งนี้ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการนำกัญชงไปใช้มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประเมินว่าผลิตภัณฑ์กัญชงไทยจะเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐปลดล็อคการประกอบธุรกิจ โดยตลาดกัญชงไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ยถึง 126% ต่อปี
จะเห็นได้ว่ากัญชงเป็นที่ต้องการอย่างมากและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลาย อีกทั้งไทยมีสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย มีการทำการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชงมามากกว่า 10 ปี จึงมีโอกาสที่ไทยจะกลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่และสามารถเกาะเกี่ยวการเติบโตในตลาดกัญชงโลกได้