ราคาข้าวเปลือกจ่อปากเหว 3 เดือนร่วง 20%ลุ้นส่งออกช่วยพยุง
จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.ค. 2564) มีปริมาณ 2,587,170 ตัน ลดลง 22.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563
จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.ค. 2564) มีปริมาณ 2,587,170 ตัน ลดลง 22.4%เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีการส่งออกปริมาณ 3,332,200 ตัน ด้านมูลค่า 48,973 ล้านบาท หรือ 1,608.4 ล้านดอลลาร์ ลดลง 30.1% เทียบดับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี มูลค่า 70,031.4 ล้านบาท หรือ 2,240.4 ล้านดอลลาร์
รังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้า่วมีแนวโน้มทรงตัวหลังจากก่อนหน้านี้ปรับตัวลดลงประมาณ 20% เทียบจากช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หรือ ราคาลดลงจากเฉลี่ยราคาข้าวเปลือกเจ้า ที่ตันละ 10,000 -10,500 บาท มาอยู่ที่ 7,000-8,000บาท
สาเหตุสำคัญมาจากไทยผลิตข้าวได้มากกว่าปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศเท่าตัวทำให้การส่งออกเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศที่ก่อนหน้านี้ ราคาข้าวไทยสูงเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกข้าวจากประเทศอื่นๆทำให้แข่งขันไม่ได้ ปริมาณการส่งออกจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อราคาภายในประเทศ ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวออกสู่ตลาดมาก
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันยังพบปัจจัยที่เอื้อต่อการส่งออกในขณะนี้คือ เงินบาทอ่อนค่า และราคาข้าวไทยที่อ่อนตัวลงทำให้ปัจจุบันสามาถแข่งขันได้และพบว่าไทยมีคำสั่งซื้อข้าวมากขึ้นเพราะมีศักยภาพในการส่งออกที่ดีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ราคาข้าวที่ลดลงอย่างมากแม้ไม่กระทบต่อชาวนาโดยตรงเพราะมีโครงการประกันรายได้ซึ่งกำหนดรายได้ชาวนาจากการขายข้าวไว้ที่ ตันละ 10,000 บาท (ข้าวเปลือกเจ้า)ทำให้ชาวนาสามารถได้รับส่วนต่างจากราคาตลาดกับราคาประกันจากรัฐบาลได้ทำให้ผลกระทบไม่สูงมากแม้ปีนี้ชาวนาจะเผชิญกับปัญหาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นตามทิศทางราคาโลก ทั้ง ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และปัจจัยอื่น
จากสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกลดลงขณะนี้ ทำให้ภาครัฐต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายในโครงการประกันรายได้ที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยโครงการประกันรายได้ปีนี้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ(นบข.) ที่ีมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน กำหนดงบประมาณไว้ที่ 89,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาข้าว พร้อมช่วยปัจจัยการผลิตให้ชาวนา ที่ไร่ละ 1,000 บาท จำนวน 20 ไร่ ต่อ 1 ครัวเรือน คิดเป็นเงินประมา 59,000 ล้านบาท
เบื้องต้นปีนี้เชื่อว่าจะมีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา จากจำนวนชาวนาและพื้นที่ปลูกข้าวที่มากขึ้น ประมาณ 4.6 ล้านครัวเรือน ในพื้นที่รวมประมาณ 60 ล้านไร่ แต่ปริมาณน้ำฝนที่ค่อนข้างมากในขณะนี้ก็เป็นอีกหัวเลี้ยวหัวต่อว่า หากน้ำฝนมากเกินไปก็อาจทำให้น้ำท่วมนาข้าวจนผลผลิตไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ดังนั้น สถานการณ์ราคาข้าวจึงยังมีความผันผวนได้อีกจากนี้
รายงานข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า การส่งออกข้าวในเดือนก.ค. 2564 มีปริมาณ 419,578 ตัน มูลค่า 7,466 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 7.6% และ 4.9% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. 2564 ที่มีการส่งออกปริมาณ 389,331 ตัน มูลค่า 7,115 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงนี้ราคาข้าวของไทยปรับลดลงตามภาวะตลาดและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญโดยเฉพาะอินเดียได้ ส่งผลให้การส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน
โดยในเดือนก.ค. 2564 มีการส่งออกข้าวนึ่งปริมาณ 175,522 ตัน เพิ่มขึ้น 107.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน เบนิน ไนเจอร์ แคเมอรูน เป็นต้น อย่างไรก็ตามในส่วนของข้าวขาวมีการส่งออกลดลง 33.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยมีปริมาณ 136,501 ตัน ส่วนใหญ่ส่งไปประเทศจีน ญี่ปุ่น แองโกล่า แคเมอรูน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 74,850 ตัน เพิ่มขึ้น 21.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลักคือ สหรัฐฯ ฮ่องกง แคนาดา ฝรั่งเศส สิงคโปร์ จีน เป็นต้น
สมาคมฯคาดว่าในเดือนส.ค. 2564 ปริมาณส่งออกข้าวจะมีมากกว่า 600,000 ตัน เนื่องจากราคาข้าวของไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากคู่แข่งมากนัก ขณะที่ความต้องการข้าวในตลาดต่างประเทศ ทั้งที่แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังคงมีปัญหาด้านลอจิสติกส์อยู่บ้างในบางเส้นทางเดินเรือ เช่น อเมริกา และยุโรป ที่ค่าระวางเรือยังคงอยู่ในระดับที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 600,000-700,000 ตัน ซึ่งจะทำให้ในปีนี้ประเทศไทยสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายที่ 6 ล้านตัน
ด้านราคาข้าวในช่วงนี้ข้าวขาว 5% ของไทยราคาอยู่ที่ 409 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 398-402, 368-372 และ 353-357 ดอลลาร์ต่อตัน ตามลำดับ ส่วนข้าวนึ่งของไทยราคาอยู่ที่ 415 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวนึ่ง ของอินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 348-352 และ 396-400 ดอลลาร์ต่อตัน ตามลำดับ