อีเอสจีฯ ดีเดย์ปลูกพืชกัญชง ขอ 5 ปี เพิ่มพื้นที่แตะ 5,000 ไร่
โควิด-19 เบรกความร้อนแรงพืชเศรษฐกิจกัญชากัญชง ด้านเอสเทิร์น สเปคตรัม กรุ๊ป ลุยเฟสแรก ยึดพื้นที่ 200 ไร่ พร้อมสร้างโรงงานแปรรูป ผลิตสารซีบีดี รับตลาดเครื่องดื่ม เครื่องสำอางตั้งเป้า 5 ปี ขยายพื้นที่ปลูกแตะ 5,000 ไร่
นายธนิสร บุญสูง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์น สเปคตรัม กรุ๊ป จำกัดหรืออีเอสจี ผู้ดำเนินธุรกิจเพาะปลูก แปรรูปพืชกัญชากัญชง และผลิตสารสกัดจากกัญชง(ซีบีดี) เปิดเผยว่า แม้ไทยยังเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่บริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจเพาะปลูกพืชกัญชง โดยเดือนตุลาคมปีนี้จะเห็นการเริ่มเพาะปลูกครั้งแรกบนเนื้อที่ 200 ไร่ ที่ราชบุรี จากพื้นที่ทั้งหมด 584 ไร่ หลังจากนั้นคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เดือนมกราคม ปี 2565
ทั้งนี้ บริษัทยังเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเต็มที่ทั้งการซื้อเครื่องจักรมาใช้ในการเก็บเกี่ยว การสร้างโรงงานสกัดสารซีบีดี และร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทย เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อการเพาะปลูกกัญชาและกัญชง การแปรรูปกัญชา รวมถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้สารซีบีดี
นอกจากนี้ กระแสความตื่นตัวของพืชกัญชากัญชงที่เกิดในประเทศไทย ความต้องการนำสารสกัดไปใช้ในอุตสาหกรรมเซ็คเตอร์ต่างๆ บริษัทมองเป็นตัวแปรสำคัญที่จะดิสรัปวงการธุรกิจอย่างมากด้วย
ปัจจุบันแนวโน้มความต้องการสารสกัดจากพืชกัญชงหรือซีบีดี ยังมีสูงมาก จากหลากหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เวชภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงสิ่งทอและยานยนต์ ขณะที่บริษัทได้มีการเจรจาและมีลูกค้าแล้ว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ส่วนอาหารและเวชภัณฑ์ยามีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“บริษัทใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เพื่อรุกเพาะปลูก แปรรูปและผลิตสารสกัดจากพืชกัญชากัญชง เช่น ซื้อเครื่องจักรหลัก 10 ล้านบาท สร้างโรงงาน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นบรษัทที่มีต่อพืชกัญชากัญชง ซึ่งจะเป็นพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย และจะดิสรัปหลายธุรกิจ เพราะพืชและสารสกัดที่ได้จะถูกนำไปใช้ในหลายเซ็คเตอร์แน่นอน ดังนั้นการลงทุนของบริษัทจึงพร้อมรองรอบความต้องการของลูกค้าที่มีในตลาดสูงด้วย โดยเบื้องต้นเราจะเริ่มพาะปลูกพืชกัญชากัญชงเดือนตุลาคมนี้ 200 ไร่ แต่เป้าหมายระยะยาวในปี 2566 ต้องการเพิ่มพิ้นที่เพาะปลูกให้ได้ 5,000 ไร่ ด้วยการทำเกษตรพันธสัญญาหรือคอนแทร็ค ฟาร์มมิ่ง จับมือกับวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เป็นต้น”
สำหรับข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรี ระบุการปลดล็อคการประกอบธุรกิจกัญชงจะเชื่อมโยงไปสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมหรือซัพพลายเชนอย่างน้อย 5 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหาร ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลหรือเพอร์ซันนอลแคร์ โดยใน 5 ปีข้างหน้า ตลาดจะค่อยๆเติบโต และประมาณการมูลค่าตลาดกัญชงราว 15,800 ล้านบาท เช่น เครื่องดื่ม 280 ล้านบาท อาหาร 240 ล้านบาท เพอร์ซันนอลแคร์ 600 ล้านบาท ฯ