ส.อ.ท.ปักธง5คลัสเตอร์ ดันลงทุนอุตสาหกรรม 'บีซีจี'
“ส.อ.ท.” ปักธงอุตสาหกรรมตอบโจทย์ BCG ดันเศรษฐกิจ 4.4 ล้านล้านใน 10 ปี ชู 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง อาหารอิเล็กทรอนิกส์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม นำร่อง จับมือ บพข.-วิศวะจุฬาฯ ขับเคลื่อน ระบุกติกาโลกเน้นไทยหลีกเลี่ยงยาก
การขับเคลื่อนนโยบาย BCG ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy ถูกผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนที่จะลงทุนตามแนวทาง BCG รวมถึงการจัดกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบาย BCG โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นวาระสำคัญที่ประเทศไทยในฐานประธานการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ในปี 2564 เนื่องจากสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก
รวมทั้ง ส.อ.ท.พร้อมที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ BCG ที่มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่ม 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของจีดีพีปัจจุบันให้ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า หรืออาจทำได้เร็วขึ้นกว่าเป้าหมายที่วางไว้ก็จะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก
โดยจะมีการผลักดันความร่วมมือทั้งภายในสมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆภายใน ส.อ.ท. และหน่วยงานภายนอก โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2564 ส.อ.ท.ได้ประกาศความร่วมมือกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันเรื่อง BCG ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ส.อ.ท. ดำเนินภารกิจดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน BCG และร่วมผลักดันในการดำเนินโครงการนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต้นแบบ หรือ โมเดลกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งจะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ์ผล เพื่อสร้างทางเลือกแผนธุรกิจที่มีศักยภาพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม
รวมทั้งร่วมจัดทำคู่มือบทเรียนความสำเร็จของ CE Champion จาก 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ได้แก่
1.ปิโตรเคมี 2.วัสดุก่อสร้าง 3.อาหาร 4.ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ 5.ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการทุกขนาด โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีส่วนสำคัญ รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีจุดแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้มีการผลักดันและดำเนินงานตามนโยบาย BCG ของประเทศ โดยกำหนดแนวทางทำงานภายใต้ 3 กลยุทธ์ ประกอบด้วย
1.การพัฒนาโมเดล BCG และการขยายผลแนวทางพัฒนา 2.การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการ 3.การพัฒนามาตรฐานและการสนับสนุนด้านนโยบาย BCG โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรบริสุทธิ์น้อยลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การส่งเสริม Smart Agriculture Industry การพัฒนา Platform การบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือที่เรียกว่า “Circular Material Hub” การจัดทำข้อตกลงร่วมบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการจัดขยะพลาสติกภายใต้การสนับสนุน Alliance to End Plastic Waste (AEPW) การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมถึงโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วย
จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบาย BCG เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี 2564-2570 โดยความร่วมมือในโครงการนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนในด้านวิชาการ ทั้งในเชิงองค์ความรู้เกี่ยวกับ Circular Economy และวิธีการวิจัยที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำ Focus Group และการจัดทำ Guidelines เพื่อให้ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสามารนำแนวทางไปปรับใช้ และนำไปพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้
สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า BCG มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตเพราะจะเป็นกติกาของโลก โดยหากประเทศใดไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกกีดกันทางการค้าจากประเทศอื่นที่เคร่งครัดในกติกานี้ได้ และในฐานะผู้ให้ทุนการสนับสนุนการดำเนินโครงการได้เห็นถึงบทบาทภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อน BCG เพื่อให้เกิดขึ้นจริงได้
“โครงการนี้จะเน้นการศึกษาวิจัย BCG Model ในทางวิชาการและสร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ BCG เพื่อนำไปสู่การปรับใช้ในทางธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง และหลังจากที่ผลการศึกษาเสร็จสิ้นจะมีแนวทางส่งเสริม BCG”
รวมทั้ง บพข.และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในโครงการ ด้วยนโยบายการสนับสนุนทางการเงิน ภาษี การลงุทน กฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา และการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างประโยชน์จากผลการวิจัยโครงการเพื่อให้เกิดขึ้นจริงกับธุรกิจ