ไทยยูเนี่ยน-ซีพีเอฟ’ ชงรัฐนำเข้าแรงงานดันส่งออกธุรกิจอาหาร
เอกชน แนะรัฐเปิดนำเข้าแรงงาน “ซีพีเอฟ” หารือ แรงงาน หนุนเจรจารัฐต่อรัฐ เซ็ตระบบวัคซีน ควอรันทีน บับเบิ้ลแอนด์ซีล “ไทยยูเนี่ยน” หนุนกักตัว 14 วัน หากปลอดโรคเข้าทำงานได้ หวังช่วยดันการผลิตเพิ่มส่งออกครึ่งปีหลัง
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ขณะนี้ในธุรกิจอาหารเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ แรงงานในอุตสาหกรรมไม่เพียงพอ เพราะการระบาดทำให้แรงงานกังวลเรื่องการติดเชื้อ รวมทั้งมีแรงงานจำนวนหนึ่งต้องขอลาออก โดยที่ผ่านมาได้หารือกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับการชี้แจงแนวคิดการแก้ปัญหาดังกล่าวของกระทรวงแรงงาน
“รมว.แรงงานมีไอเดียว่า ถ้าเราปล่อยไว้อย่างนี้ ประเทศเราพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเยอะ อาจจะต้องมีกระบวนการในการเซ็ตมาตรฐานในการนำแรงงานต่างด้าวมา โดยมีระบบจัดการแรงงานที่ดี เข้าใจว่ากระทรวงแรงงานมีแนวคิดในการจัดการ” นายประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ การส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญมากตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนการส่งออก โดยถ้าทุกคนมีกำลังผลิตที่ลดลงเพราะขาดแรงงาน ก็อาจจะกระทบเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งทำให้กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่อาจจะดำเนินการนำเข้าแรงงาน โดยประกาศเชิญชวนให้แรงงานต่างชาติเข้ามา แต่ต้องมีระบบบริหารจัดการ เช่น มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 การจัดสถานที่ Quarantine ให้กับแรงงานก่อนเข้ามาทำงาน โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นไปในลักษณะรัฐต่อรัฐ (G to G) หรือการมีหน่วยงานที่รัฐบาลให้การรับรองเพื่อมาดำเนินการส่วนนี้ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีในการเข้ามาแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
นอกจากนี้ ซีพีเอฟได้มีแนวทางในขณะนี้เพื่อจูงใจให้มีผู้มาร่วมทำงาน โดยการรับพนักงานใหม่ถ้าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม รวมทั้งซีพีเอฟพยายามสื่อสารว่ามีระบบควบคุมการระบาดและการฉีดเพื่อให้ผู้มาร่วมทำงานมีความเชื่อมั่น ซึ่งที่ผ่านมาซีพีเอฟได้จัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้พนักงาน
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติที่กลับประเทศไปแล้วเดินทางเข้ามาทำงานในไทยไม่ได้ เพราะการปิดประเทศหลังมีโควิด-19 แต่ปัจจุบันการทำงานในโรงงานได้รับการดูแลมากขึ้น โดยรัฐบาลเห็นชอบให้ใช้มาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล ซึ่งจะคัดแยกแรงงานที่ติดเชื้อไปรักษา ส่วนแรงงานที่ไม่ติดเชื้อก็ทำงานตามปกติ
ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาเปิดให้แรงงานต่างชาติเข้ามาแบบโปร่งใสตามขั้นตอนตามกฎหมาย แต่เข้มงวดก่อนข้ามพรมแดน โดยต้องตรวจหาเชื้อโควิดก่อนแล้วนำมากักตัว 14 วัน ก่อนตรวจใหม่อีกครั้ง รวมทั้งการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจและปลอดภัยต่อทั้งตัวพนักงานและกระบวนการผลิตของโรงงาน
สำหรับการเปิดนำเข้าแรงงาน ดังกล่าวจะส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่ความต้องการในตลาดโลกมีมากขึ้น และเป็นสินค้าพื้นฐานที่ขาดไม่ได้แม้จะเปิดภาวะโรคระบาด แต่ความต้องการยังเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกักตุน ดังนั้นหากรัฐบาลพิจารณาเปิดนำเข้าแรงงานช่วงนี้ และเมื่อรวมกับสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้การส่งออกในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัว
“ตอนนี้ทั้งสหรัฐและอียูบางประเทศ เริ่มทยอยเปิดประเทศกันแล้ว เป็นสัญญาณดีว่าการใช้ชีวิตประจำวันเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจะกลับมาคึกคักเป็นโอกาสของไทย แต่การผลิตของไทยยังทำไม่ได้เต็มศักยภาพ เพราะแรงงานมีน้อย ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ ส่วนเรื่องเรือบรรทุกสินค้าคาดว่าจะดีขึ้นตามมา“
ทั้งนี้ แรงงานของไทยยูเนี่ยนหายไปส่วนหนึ่ง แต่อยู่ในระดับที่พอจะหมุนเวียนการทำงาน จัดระบบการทำงานล่วงเวลา (โอที) เพื่อทดแทนผลผลิตที่หายไป ส่วนการปิดโรงงานที่ จ.สงขลา 2 สัปดาห์ เพื่อเคลียร์ปัญหาโควิด เสร็จแล้วก็เปิดต่อ แต่ถ้านำเข้าแรงงานได้จะดีมากขึ้น ซึ่งไทยยูเนี่ยนหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการนำเข้าแรงงานอย่างปลอดภัย ซึ่งขึ้นกับรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร