กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมแผนป้องไม้ผลเสียหายจากพายุโกเซน
กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรรับมือพายุโซนร้อน "โกเซิน" 13 ก.ย. 64 นี้ เตรียมแผนป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะไม้ผลยืนต้น
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนให้ประชาชนระวังพายุโซนร้อนกำลังแรง “โกนเซิน” ซึ่งอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง และกำลังเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นและเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ประมาณวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2564 ในขณะที่มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง จะส่งผลทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำให้เกษตรกรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย เช่น ไม้ผลภาคใต้ ได้แก่ มังคุด เงาะลองกอง และลำไยภาคเหนือ ที่แม้จะเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิตในเดือนกันยายน แต่ยังมีเกษตรกรชาวสวนหลายกลุ่มที่เตรียมผลิตลำไยนอกฤดูอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับไม้ผลหลายชนิดเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี จึงต้องบำรุงรักษาต้นไม่ให้โค่นล้มเสียหาย เพื่อพร้อมสำหรับให้ผลผลิตในฤดูกาลถัดไป
วิธีการดูแลสวนไม้ผลในระยะก่อนและหลังการเกิดพายุ เพื่อป้องกันบรรเทาความเสียหายหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น ทำได้โดยในระยะก่อนการเกิดพายุฤดูร้อน ควรดูแลดังนี้ 1) ปลูกต้นไม้บังลม เช่น ไม้ไผ่ กระถินณรงค์ ขี้เหล็กบ้าน และสะเดาอินเดีย เพื่อลดความรุนแรงของลมก่อนที่จะเข้าถึงสวนผลไม้หรือพื้นที่เพาะปลูก จะช่วยลดความสูญเสียจากพายุลมแรงได้ 2) ตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง ขณะเดียวกันควรใช้เชือกโยงกิ่งและต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย 3) เก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อน เพื่อลดความเสียหาย และลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง
สำหรับระยะหลังจากเกิดพายุฤดูร้อน ควรดูแลดังนี้ 1) สวนไม้ผลที่ได้รับผลกระทบจากพายุ สามารถที่จะฟื้นฟูได้โดยทำการตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหัก หรือต้นไม้ที่โค่นล้มออกทันทีที่พื้นดินในบริเวณสวนแห้ง 2) ขณะที่ดินยังเปียกชื้นอยู่ เกษตรกรไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวน เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลายและอัดแน่นได้ง่าย
3) กรณีที่มีดินโคลนทับถมเข้ามาในสวน เมื่อดินแห้งให้ขุดหรือปาดเอาดินโคลนที่ทับถมออกจากบริเวณทรงพุ่มให้ลึกถึงระดับดินเดิม เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น และหากต้นไม้เอนลง ให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง โดยยึดไว้กับหลักหรือไม้ผลต้นอื่น พร้อมตัดแต่งกิ่งออก 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น จากนั้นควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่ไม้ผล และเมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ซึ่งจะทำให้รากแตกใหม่ได้ดีขึ้น และควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วย ทั้งนี้เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน