ชง ศบศ.เปิด 5 จังหวัดรับศึกชิงทัวริสต์! เที่ยวแบบ ‘ไม่กักตัว’ คิกออฟ 1 ต.ค.นี้
ศึกชิงตลาด “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” กำลังระอุขึ้นอีกครั้ง! แม้วิกฤติโควิด-19 จะเข้ามาพลิกสถานการณ์ ก่อข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ แต่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ยังต้องการเดินทางไปจุดหมายที่มีเงื่อนไขไม่ซับซ้อน
ขอให้สะดวกมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ทั้งในขั้นตอนการเตรียมตัวเรื่องเอกสาร จองตั๋วเครื่องบินและที่พัก จนถึงการออกเดินทางจริง ยิ่งประเทศไหนประกาศชัดว่ามาเที่ยวแบบ “ไม่กักตัว” ยิ่งได้เปรียบในภาวะที่มีการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปทั่วโลก
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.จะเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) พิจารณาการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ตามแผนระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป รวม 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี (เมืองพัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่แตง อ.แม่ริม อ.ดอยเต่า) เพชรบุรี (ชะอำ) และประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ให้มีหลักปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด หรือ “One SOP One System” (OSOS)
นับเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ซึ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบหรือไม่ติดเชื้อ ให้สามารถท่องเที่ยวได้แบบไม่ต้องถูกกักตัว ในรูปแบบของ “Sealed Area” หรือเที่ยวในพื้นที่จำกัด โดยภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กำหนดให้ท่องเที่ยวได้แบบไม่ต้องกักตัว แต่ต้องอยู่ภายในพื้นที่ จ.ภูเก็ต
สำหรับสถิติ ณ วันที่ 12 ก.ย.2564 มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สะสม 74 วันแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-12 ก.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 31,635 คน คัดกรองพบผู้ติดเชื้อ 89 คน รอผลตรวจอีก 2 คน ขณะที่โครงการ “สมุย พลัส โมเดล” มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสะสม 60 วันแรก ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-12 ก.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 684 คน คัดกรองพบผู้ติดเชื้อ 5 คน
“เนื่องจากโครงการสมุย พลัส โมเดล มีการกำหนดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวอยู่ในเส้นทางที่กำหนด (Sealed Route) ทำให้ ททท.ทำการตลาดยาก จึงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาน้อย ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ททท.จึงเตรียมเสนอต่อที่ประชุม ศบศ.ให้พิจารณาปรับโครงการสมุย พลัส โมเดล เป็นการเที่ยวแบบไม่กักตัวแต่อยู่ในพื้นที่จำกัด (Sealed Area) เช่นกัน และเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการ ‘สมุย พลัส แซนด์บ็อกซ์’ ประกอบด้วยพื้นที่นำร่องเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า เช่นเดิม”
ทั้งนี้ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ ททท.จะหารือกับทางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมทางภาครัฐและเอกชน จ.เชียงใหม่ จัดทำคู่มือมาตรฐานแนวทางปฏิบัติ (SOP: Standard Operation Procedures) เป็นการท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์และอยู่ในเส้นทางที่กำหนด (Sealed Route) เท่านั้น โดยจัดทำมา 14 เส้นทาง ก็จะต้องปรับใหม่เป็นการเที่ยวแบบอิสระ แต่อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด
และในวันที่ 15 ก.ย.นี้จะหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยกรณีของกรุงเทพฯ แม้ปัจจุบันจะมีการฉีดวัคซีนเกิน 70% ของประชากรทั้งหมดแล้ว แต่เนื่องจากมีพื้นที่เชื่อมต่อกับจังหวัดในปริมณฑลที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ จึงต้องหารือเพื่อสรุปกันว่าสามารถเปิดได้ตามแผนในเดือน ต.ค.นี้หรือไม่ ส่วนพื้นที่หัวหินและพัทยา ททท.ได้ดำเนินการหารือเรียบร้อยแล้ว
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เป็นประธานการประชุมติดตามความพร้อมการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติของ จ.ชลบุรีในพื้นที่ อ.บางละมุง ซึ่งครอบคลุมเมืองพัทยา และ อ.สัตหีบ ภายใต้โครงการ “พัทยา มูฟออน” โดยจะปรับโมเดลมาใช้การท่องเที่ยวในรูปแบบ Sealed Area หรือภายในพื้นที่ที่กำหนด เหมือนโมเดลของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสและมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบ สามารถท่องเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัวภายใน จ.ภูเก็ต
โครงการพัทยามูฟออนจะเริ่มคิกออฟตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งตรงกับไทม์ไลน์การเปิดประเทศระยะที่ 2 เปิดเมืองเพิ่มอีก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และชลบุรี รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมั่นใจว่าประชากรในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 70% ครบเกณฑ์การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักในการเปิดเมือง
“กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะนำเสนอเรื่องปรับโมเดลโครงการพัทยามูฟออนใช้รูปแบบ Sealed Area เหมือนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ต่อที่ประชุม ศบศ.ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ด้วย พร้อมเสนอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเที่ยวพื้นที่นำร่องในชลบุรี ในลักษณะ 7+7 ทั้งรูปแบบท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ครบ 7 วันแรกแล้วมาเที่ยวชลบุรี 7 วันหลัง หรือท่องเที่ยว 7 วันแรกที่ชลบุรี แล้วไปต่อที่ภูเก็ตใน 7 วันหลัง เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับพื้นที่การท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ด้วยการเชื่อมโยง 9 จังหวัดที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะที่ 1 และ 2 ประกอบด้วย ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชลบุรี” นายพิพัฒน์กล่าว
ทั้งนี้การเดินหน้าตามแผน “เปิดประเทศ” เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เกิดขึ้นหลังจากประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขณะนี้เห็นยอดผู้ติดเชื้อทยอยลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นคาดการณ์ว่าการเดินทางในประเทศจะสามารถกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในเดือน ต.ค.นี้ เนื่องจากเดือน ก.ย.จะเป็นช่วงเดือนที่มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีกจำนวนมาก ทำให้เดือน ก.ย.จะเป็นเดือนแห่งการเร่งฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่โดยคาดว่าพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับคนในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้ว การเดินทางจากฟื้นตัวกลับมาในเดือนถัดไปหลังจากนั้นจะเดินหน้าตามแผนการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
สำหรับเกณฑ์การเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ “ไม่กักตัว” จะมุ่งเปิดเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง สมุทรปราการ กระบี่ ตรัง นราธิวาส พังงา ภูเก็ต ยะลา สงขลา สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา
นอกจากนี้จะเปิดจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เลย อุบลราชธานี ระนอง สตูล น่าน กาญจนบุรี และราชบุรี รวมถึงพื้นที่นำร่องที่มีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่น ประกอบด้วย ลำพูน แพร่ นครศรีธรรมราช และพัทลุง