เปิดไทม์ไลน์ ‘UBE-CPANEL’ ไอพีโอน้องใหม่เทรดวันเดียวกัน !
ริมถนนนักลงทุน เสิร์ฟความเคลื่อนไหวแวดวงตลาดหุ้น หนึ่งความเคลื่อนไหวน่าสนใจ ยกให้ ไทม์ไลน์ของ 2หุ้นไอพีโอน้องใหม่ อย่าง UBE-CPANEL ที่จะมีนามสกุลมหาชนต่อท้ายชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการวันเดียวกัน (เทรด) 30 ก.ย. นี้
๐ บรรยากาศตลาดหุ้นไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่าน กลับเข้าสู่หมวด 'คาดเดายาก' ระหว่างวันมีทั้งบวกและลบ โดย 'หุ้น DELTA' เข้ามา 'กดดัน' ตลาดอีกแล้ว หลังจากช่วง 26 ส.ค. ราคาหุ้นอยู่ที่ 560 บาท และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องมาถึงวันที่ 6 ก.ย. ราคาหุ้น 764 บาท เพิ่มขึ้น 36.43% แต่มาในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้น DELTA พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังราคาหุ้นร่วงหนักๆ ติดต่อกัน ล่าสุดราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 566 บาท (17 ก.ย.)
๐ น่าจะเป็นครั้งแรก !! ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือป่าวนะ... ที่นักลงทุนจะได้เห็น 'หุ้นไอพีโอน้องใหม่' เข้าซื้อขาย (เทรด) วันแรกพร้อมกันสองบริษัท... หากดูตามไทม์ไลน์ของ หุ้น อุบล ไบโอ เอทานอล หรือ UBE เปิดจอง 21-23 ก.ย. 2564 นี้ ในราคา IPO 2.40 บาทต่อหุ้น และ หุ้น ซีแพนเนล หรือ CPANEL เปิดจองซื้อ 21-23 ก.ย. นี้ ราคาขายหุ้นไอพีหุ้นละ 6 บาท โดย 'หุ้น UBE-CPANEL' คาดเข้าเทรดวันแรกพร้อมกันในวันที่ 30 ก.ย. 2564 นี้ ไม่รู้วันนั้นเป็นฤกษ์ดีหรือวันดียังไงถึงใจตรงกันเช่นนี้ แต่งานนี้รักใครชอบใครเลือกดูกันเอง !!
๐ เป็นหนึ่งในหุ้นไอพีโอหาซื้อยากตัวหนึ่ง ! สำหรับ บมจ. บลูบิค กรุ๊ป หรือ BBIK ที่มีข่าวแว่วๆ มาตั้งแต่ยังไม่เข้าระดมทุนว่าเป็นหุ้นไอพีโอฮอตตัวจริง ใครมีเงินก็หาซื้อได้ยาก... เพราะขายหมดเกลี้ยงตั้งแต่วันแรกที่เปิดจองซื้อแล้ว และในวันแรกที่เข้าซื้อขาย (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ก็ไม่ทำให้แฟนนคลับ 'หุ้น BBIK' ผิดหวังเทรดวันแรก (16 ก.ย.2564) ราคาเปิด 36.75 บาท พุ่ง 104% จากราคาไอพีโอ 18 บาท
๐ 'พชร อารยะการกุล' เจ้าของตัวจริง BBIK พร้อมผลักดันแผนธุรกิจที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ออกไปโลดแล่นและสร้างการเติบโต ตามเป้าหมายคาดรายได้จะโตไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปี ที่เติบโตไม่น้อยกว่า 20% เนื่องจากธุรกิจที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง
๐ ช่วงเย็นวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา บมจ.ปตท. หรือ PTT แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ PTT ถือหุ้น 100% มีมติอนุมัติให้ Arun Plus ลงนามสัญญาร่วมทุน และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ลี่ยี่อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn) ถือหุ้นทั้งหมด ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3,220 ล้านบาท โดย Arun Plus และ Lin Yin ถือหุ้น ในสัดส่วน 60% และ 40% ตามลำดับ เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย
๐ นี่ถือเป็น 'จุดสตาร์ท' ของบริษัทยักย์ใหญ่ ปตท. ในธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทย และยังเป็นส่วนช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน ยิ่งไปกว่านั้นการลงทุนครั้งนี้ของ ปตท. กำลังทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศเติบโต รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลอีกด้วย !