"อนุสรณ์ ธรรมใจ" หวั่นวิกฤต “เอเวอร์แกรนด์” ฉุดเศรษฐกิจจีนซ้ำรอยต้มยำกุ้ง

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" หวั่นวิกฤต “เอเวอร์แกรนด์” ฉุดเศรษฐกิจจีนซ้ำรอยต้มยำกุ้ง

“อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตบอร์ดแบงก์ชาติ หวั่นวิกฤต “เอเวอร์แกรนด์” ฉุดเศรษฐกิจจีนซ้ำรอยต้มยำกุ้ง มองผลกระทบต่อไทยจำกัด

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึง กรณีการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีนถือเป็นสัญญาณสำคัญเตือนว่าเศรษฐกิจจีนอาจกำลังเดินหน้าซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งในไทยเมื่อปี  2540-2542 หรือไม่

ซึ่งขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่ายักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์รายนี้คงไม่สามารถชำระดอกเบี้ยจากหนี้จำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนในจีนและนักลงทุนทั่วโลกได้ในวันที่ 23 ก.ย. นี้ จำนวน 83.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศ และคงไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยอีก 47.5 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 29 ก.ย. หนี้ที่ต้องชำระเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนี้สินทั้งหมดของเครือข่ายบริษัทเอเวอร์แกรนด์ที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 305,000 ล้านดอลลาร์ คำนวณได้ 2% ของจีดีพีของประเทศจีน

หากเทียบกับหนี้สินรวมของเครือข่ายบริษัทนี้มีขนาดใหญ่เกือบ 2 ใน 3 ของรายได้ประชาชาติของไทย เศรษฐกิจการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศจีนจะชะลอตัวลงจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ทางการจีนได้ปล่อยเงินเข้ามาในระบบเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามสู่วิกฤติระบบการเงิน โดยอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบสูงถึง 4.5 แสนล้านบาท หรือ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (9 หมื่นกว่าล้านหยวน)

อ่านข่าว : "เอเวอร์แกรนด์" เริ่มจ่ายหนี้เป็น "อสังหาริมทรัพย์"

ขณะที่ราคาหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ปรับฐานลงมานับจากต้นปีแล้วกว่า 80% และราคาพันธบัตรของบริษัทกลายเป็นพันธบัตรขยะ หรือ Junk Bond ไปแล้ว มีมูลค่าลดลงต่ำสุดเหลือ 40 เซนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตลาดการเงินมองว่าบริษัทนี้ไม่สามารถชำระหนี้ที่มีอยู่อย่างมหาศาลได้อย่างแน่นอน การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินของทางการจีนเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขไม่ให้ปัญหาของเอเวอร์แกรนด์ลุกลามสู่ความเสี่ยงเชิงระบบต่อภาคการเงิน (Financial Systematic Risks) ซึ่งน่าจะช่วยประคับประคองตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ไม่ให้ตื่นตระหนกได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบได้เกิดขึ้นในตลาดพันธบัตรเอเชียแล้ว มีเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรเอเชียรวมทั้งไทยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หนี้สินทั้งหมดของบริษัทเอเวอร์แกรนด์นั้นเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคารทั้งในจีนและทั่วโลกโดยเฉพาะในเอเชียประมาณ 249 แห่ง และ แต่ละแห่งก็คงเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้อย่างแน่นอน การบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูกิจการน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่ไม่ก่อให้เกิดจริยวิบัติ (Moral Hazard) ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงิน และไม่ขัดแย้งกับแนวทางการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และอีกด้านหนึ่งเป็นการลดความตื่นตระหนกของตลาดการเงิน ผลกระทบต่อสถาบันการเงินและประชาชน 

ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากทางการจีนด้วยมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว การล้มละลายของ Evergrande จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินจีนไม่น้อย สถาบันการเงินและเจ้าหนี้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แม้ว่าสถาบันขนาดใหญ่ในจีนหลายแห่งจะมีการกันสำรองหนี้เสียและลดการปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอเวอร์แกรนด์ตั้งแต่ปีที่แล้วก็ตาม แต่ความเสียหายอาจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และกรณีของเอเวอร์แกรนด์อาจเป็นเพียงส่วนเดียวของฟองสบู่และการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพฤติกรรมการลงทุนเกินตัวและก่อหนี้เกินตัวของธุรกิจใหญ่ของจีน ซึ่งกำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่แตกซ้ำรอยวิกฤตการณ์เศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี  2540 ปัญหาผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ Covid-19 ทำให้ปัญหาวิกฤติที่ซ่อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจจีนเผยโฉมออกมาเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่จีนมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมาก มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ต่ำ รวมทั้งการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางที่มีคุณภาพพร้อมกับการปรับแต่งระบบเศรษฐกิจแบบตลาดให้มีความเป็นธรรม สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ “วิกฤตการณ์หนี้สินในจีนครั้งนี้” ไม่ลุกลามและรุนแรงเท่าวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง   

ปัญหาหนี้สินของบริษัทเอเวอร์แกรนด์รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ที่กำลังจะตามมาแม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจในเอเชีย แต่คาดว่าจะส่งผลต่อความผันผวนต่อตลาดการเงินในระยะนี้ และน่าจะทำให้เงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ของเอเชียต่อเนื่อง กดดันให้เงินสกุลเอเชียรวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลง โดยทิศทางค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงไตรมาสสี่ปีนี้ เมื่อเสริมเข้ากับดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มอาจติดลบในปีนี้โดยในไตรมาสแรกปี 2564 ดุลบัญชีเงินสะพัดขาดดุลแล้ว 2.6 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าในไตรมาสสองและสามจะยังคงขาดดุลต่อเนื่อง ดุลการค้าเกินดุลลดลง

คาดว่าปีนี้ดุลบัญชีเงินทุนมีเงินไหลออกสุทธิไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านดอลลาร์ โดยมีทั้งการไหลออกของเงินลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ในตลาดการเงิน ปีที่แล้วเงินทุนไหลออกสุทธิประมาณ -3.59 พันล้านดอลลาร์ อัตราการค้าปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากราคานำเข้าสินค้าเพิ่มสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออก

และตอนนี้ต้องไปสำรวจว่ามีกองทุนและสถาบันการเงินของไทยไปลงทุนหรือปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอเวอร์แกรนด์หรือบริษัทอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในการผิดนำระหนี้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อการลงทุนและตลาดการเงินไทยอยู่ในวงจำกัด คงสร้าง Sentiment ที่เป็นลบต่อหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และตลาดการเงินระยะหนึ่งเท่านั้น ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินไม่ได้กระทบอะไรมากนัก และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยส่วนใหญ่ก็ชะลอการลงทุนหลังปัญหา Covid-19 และ มาตรการ LTV ของแบงก์ชาติในช่วงสองปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว การเก็งกำไรและเศรษฐกิจฟองสบู่ได้ถูกกำกับดูแลไประดับหนึ่งแล้ว ส่วนที่จะมีปัญหาน่าจะเป็น กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางหรือขนาดเล็กโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้โครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายที่หวังกำลังซื้อจากจีนนั้นคงหวังมากไม่ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้  

โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ เสนอว่าในการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินช่วงปลายเดือนนี้ขอให้ “คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน” ของธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาอย่างจริงจังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหลือ 0% หรืออย่างน้อยต้องลดลงให้เหลือ 0.10% เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและตลาดการเงิน  

ทั้งนี้ มองว่ามีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นเอเชียบางตลาดจะมีการปรับฐานครั้งใหญ่จากการลดลงของสภาพคล่องในระบบ ราคาหุ้นที่แพงเกินไปกว่าปัจจัยพื้นฐานและผลประกอบการและโครงสร้างทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่มีหนี้สินต่อทุนในสัดส่วนที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยสัดส่วนหนี้สินต่อทุนน่าจะทะลุ 3 เท่า และหนี้สินรวมทะลุ 30 ล้านล้านบาท มากกว่าสองเท่าของจีดีพีประเทศ ขณะที่ผลกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนลดลงจากระดับ 9.2 แสนล้านบาทในปี 2561 มาอยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาทเท่านั้นในปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่ บริษัทจดทะเบียนจำนวนหนึ่งต้องมีการเพิ่มทุน รีไฟแนนซ์ และ ตัดขายทรัพย์สินบางส่วนออก เพื่อดำรงสภาพคล่องและสามารถชำระหนี้ได้