คกก.กลั่นกรองเงินกู้ฯ เบรก 779 โครงการรวม 4.3 พันล้าน
“สศช.” เบรกโครงการขอใช้เงินกู้ เศรษฐกิจฐานราก 779 โครงการ รวม 4.3 พันล้านบาท เหตุโครงการไม่เหมาะสม บางพื้นที่ขอทำโคมไฟริมถนน หรือบางโครงการเสี่ยงมีการทุจริต
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานได้เสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการฯ โดยพบว่า ในโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่5รวม11จังหวัดนั้น มีโครงการกว่า779โครงการ จากทั้งหมด1,791โครงการ คิดเป็นวงเงินกว่า4,327.9ล้านบาท ที่คณะกรรมการฯ ไม่อนุมัติ
เพราะส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน หรือไหล่ทางจราจร ซึ่งสภาพถนนยังไม่ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก และมีโครงการที่มีลักษณะเป็นการจัดซื้อโคมไฟเพื่อติดตั้งริมถนน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น
ขณะเดียวกันยังพบว่าบางโครงการที่เสนอขอเงินกู้เข้ามานั้น เป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าในการดำเนินการ รวมถึงโครงการที่มีการอบรมถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนวัสดุทางการเกษตรและครุภัณฑ์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพที่ยั่งยืน
รวมทั้งผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของโครงการไม่ก่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนได้อย่างชัดเจน จึงไม่อนุมัติโครงการที่เสนอเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้เป็นที่น่าสงสัยว่า ในโครงการต่าง ๆ ที่เสนอเข้ามามีบางจังหวัดได้เสนอโครงการที่มีความเสี่ยงให้เกิดการทุจริตในโครงการได้ หรือเป็นโครงการที่ถูกจับตามองอยู่ในสังคมขณะนี้ โดยเฉพาะการจัดซื้อโคมไฟเพื่อติดตั้งริมถนน โดยการเสนอขอใช้เงินในรอบนี้ภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากฯ มีบางจังหวัดเสนอโครงการเข้ามารวมประมาณ13โครงการ คิดเป็นเงินถึง142ล้านบาท เช่น การติดตั้งโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโครงการติดตั้งไฟฟ้าในถนนขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางและมีความเห็นร่วมกันว่า การดำเนินโครงการนี้ อาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการเศรษฐกิจฐานรากฯ ที่จะสนับสนุนให้มีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างในชุมชนที่สามารถตอบโจทย์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โดยตรงมากกว่า
เช่น บริเวณโรงเรียน หนือหน้าโรงพยาบาล จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่รับผิดชอบถนนในพื้นที่ ได้ปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินการติดตั้งโคมไฟถนนเพื่อเพิ่มแสงสว่างและเสริมสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ทั่วไปตามความจำเป็นและเหมาะสมในการดำเนินโครงการต่อไป