7 คู่ผนึกธุรกิจ บจ.ไทย หมดยุคแข่งโต ต้องผสานธุรกิจกัน
วิกฤติโควิด-19 ธุรกิจต้องหยุดชะงักกันหมดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจนทำให้รายได้หาย ปิดหน้าร้าน งดการให้บริการ และแม้จะกลับมาเปิดได้ก็ไม่ได้ทุกธุรกิจ ทำให้ปิดช่องทางธุรกิจเดิมแต่กลับเปิดโอกาสใหม่ไปพร้อมกัน จึงทำให้การผนึกกำลังธุรกิจเกิดขึ้นในเหล่าบจ.ไทย
เดิมการ “ซื้อกิจการ” หรือ “ควบรวมกิจการ” เป็นทางลัดที่ง่ายและได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วที่สุด ด้วยการทุ่มเม็ดเงินจำนวนมากเข้าถือหุ้นทั้งหมด ง่ายต่อการถือสิทธิในการบริหารจัดการ ด้วยธุรกิจที่เป็นแนวโน้มใหม่ในกลุ่ม S curve เป็นดาวรุ่งในอนาคตแต่ยังไม่มั่นคงพอที่จะเป็นรายได้หลักในธุรกิจทำให้การผนึกกำลังในลักษณะพันธมิตรกลายเป็นสิ่งที่เห็นได้มากขึ้นจากนี้ไป
ธุรกิจที่เห็นการเข้าร่วมกิจการมีมากขึ้น คือ ธุรกิจดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า จนไปถึงธุรกิจ อาหารเสริมและสุขภาพ ซึ่งล้วนแต่เป็นเทรนด์โลกที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตหลังหลังวิกฤติโควิด19 ที่ระบาดทั่วโลกจนธุรกิจดั้งเดิมได้รับผลกระทบถ้วนหน้า
รายแรกที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจอนาคตบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า จากแผนการเป็นผู้ผลิตกักเก็บพลังงาน หรือ แบตเตอรี่ เฟส 1 ที่ 1 กิกะวัตต์ พร้อมกับมองหาธุรกิจที่เข้ามารองรับ คือ ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มขนส่งมวลชน ซึ่งได้เข้าถือหุ้น 40 % มูลค่า 1,474 ล้านบาท บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX
โดยมีการทุนรวมกันใน บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด (AAB) โรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า มีกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้กว่า 6,000 คันต่อปี ซึ่งมียอดส่งมอบรถบัสโดยสารไฟฟ้า 400 คัน ปัจจุบันยังไม่มีคู่แข่งในธุรกิจดังกล่าวที่จำนวนมาก
ส่วนธุรกิจไฟฟ้าขนาดใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ด้วยมูลค่าเงินสดเพียวๆแบบไม่ต้องกู้ 1.69 แสนล้านบาท ที่ราคา 65 บาทต่อหุ้น (ใช้เม็ดเงินจริงซื้อหุ้น INTUCH 39390 ล้านบาทและเทนเดอร์หุ้นที่เหลือ 48,600 ล้านบาท ขึ้นมาถือหุ้น 42.25 % )
กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ไปด้วย ซึ่งนอกจากจะได้รายได้ประจำจากเม็ดเงินปันผลที่สม่ำเสมอที่ 4-5 % ต่อปีแล้ว ยังสามารถขยายธุรกิจไปยังแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีฐานผู้ใช้บริการอันดับ 1 ของธุรกิจสื่อสาร 40 กว่าล้านเลขหมาย
ฝากธุรกิจดิจิทัลถือว่าดาวรุ่งไม่น้อยหลังดีลเปิดฉากบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เพิ่มทุนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ในบริษัท แอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG เม็ดเงิน 2,000 ล้านบาทพลิกโฉมจากอสังหาริมทรัพย์ เข้าสู่ ดิจิทัลไฟแนนซ์ ทันที
พร้อมทั้งสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจ ผ่านการเสนอขาย เหรียญดิจิทัล หรือ โทเคน ครั้งแรกของไทย “สิริฮับ” 240 ล้านเหรียญ เงินลงทุนขั้นต่ำ 10 บาท ต่อ 1เหรียญ มีสินทรัพย์อาคารชุดที่เคยเป็นของ SIRI มาเป็นรายได้จ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือเหรียญ
จากนั้นมีดีลพลิกโฉมธุรกิจอสังหาฯอีกรายหลัง กลุ่มบีทีเอส เข้าลงทุนในกลุ่ม เจมาร์ท มูลค่า 17,540 ล้านบาท ให้บริษัทลูก “ยู ซิตี้” หรือ U ซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เข้าสู่ธุรกิจดิจิทัลไฟแนนซ์ เต็มตัว ในปี 2565
การขยับกลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ยักษ์ใหญ่อาหารทะเลระดับโลกต้องการเพิ่มธุรกิจอาหารและอาหารเสริม ตัดสินใจเข้าถือหุ้นในบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพราย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF เม็ดเงิน 3,000 ล้านบาท
เป้าหมายเข้าสู่การพัฒนาและผลิตวัตถุดิบอาหารทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทาง RBF จุดเด่นผลิตวัตถุปรุงแต่งอาหาร และสามารถต่ออยดไปยังพืชสมุนไพรในอนาคต ส่วยทาง TU มีวัตถุดิบและมีช่องทางจำหน่ายทั่วโลก
นอกจากธุรกิจดังกล่าวแล้วยังมีดีลกลุ่มปูนซีเมนต์ ให้บริษัทลูก เน็กซเตอร์ เวนเจอร์ เข้าลงทุนในบริษัท คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG สัดส่วน 9 % หรือ 170 ล้านบาท เพื่อเสริมความเชียวชาญงานวิศกรรมและงานก่อสร้าง
หรือกลุ่มเซ็นทรัล ทุ่ม 13,000 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ที่นอกจากดีลูกคิดการได้ไพร์แอเรียค้าปลีกโซนตะวันออก “เมกะบาง”และ “อีเกีย” ยังได้ความเชียวชาญในการสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อนำมาสู่ในสนามค้าปลีกใจกลางสยาม สแควร์ หลังคว้าสิทธิบล็อก A (โรงหนังสกาล่า) มาจากจุฬาลงกรณ์
แนวโน้มการจับมือเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและผสานการเติบโตทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ได้ทำให้ธุรกิจหรือเจ้าของเดิมตายไปจากตลาด ซึ่งนั้นทำให้เห็นการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในยุคนิว นอลมอล