โควิดเดลต้ากดส่งออกภูมิภาคเอเชียชะลอตัว
โควิดสายพันธุ์เดลลต้าระบาดหนัก กดดันส่งออกของประเทศภูมิภาคเอเชีย เดือนส.ค.ชะลอตัว ขณะที่คู่แข่งไทยอย่างเวียดนามกระทบหนักการส่งออกติดลบ 1.70 % ด้านสนค.ชี้แนวโน้มดีขึ้นไตรมาส4 จากวัคซีนและเทศกาลต่างๆ ส่งผลความต้องการสินค้ามากขึ้น
แม้ว่าการส่งออกในเดือนส.ค. 64 ของไทยจะขยายตัว 8.93 % มีมูลค่า 21,976 ล้านดอลลาร์ แต่เป็นการขยายตัวในทิศทางที่ชะลอตัวลง เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการผลิตที่ชะงักงันจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อคดาวน์ ควบคุมการเดินทาง การขนส่ง โลจิสติกส์
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้รายงานว่า การเติบโตของการส่งออกในช่วงเดือน มิ.ย.และก.ค. ของภูมิภาคเอเชียที่ผ่านอยู่ในระดับสูง แต่มาเดือนนี้กลับชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด เช่น อินเดียขยายตัว 45.77 % จากเดือนก.ค.ที่ขยายตัว 49.85 % ญี่ปุ่น 21.82 % ขยายตัวลดลงจากเดือนก.ค. ที่ 32.64 % ไต้หวัน ขยายตัว 26.94 % จากเดือน ก.ค.ที่ขยายตัว 34.75 % และไทยส่งออกขยายตัว 8.93 % จากที่เดือนก.ค.ขยายตัวที่ 20.27% ขณะที่เวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยส่งออกติดลบ 1.70 % จากที่เดือนก.ค.ขยายตัว 11.87 % ส่วนประเทศ เกาหลีใต้ขยายตัว 26.94 % จีนขยายตัว 25.10% และ อินโดนีเซีย 64.10 % แม้ตัวเลขยังดีแต่ก็ขยับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้
อ่านข่าว : พาณิชย์มั่นใจ ‘ส่งออก’ โตทะลุ 2 หลัก เกินเป้า
นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงขยายตัวอยู่แต่อยู่ในทิศทางที่ชะลอตัว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านการโควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาดในหลายประเทศ ส่งผลให้ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่มีการใช้มาตรการล็อดดาวน์อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในโรงงาน ส่งผลกระทบการส่งออกของเวียดนาม ในเดือนส.ค.ที่ติดลบ 1.70 %
อย่างไรก็ตามแนวโน้มการส่งออกน่าจะดีขึ้นภายหลังที่ทุกประเทศเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 ประกอบกับความต้องการสินค้าของประเทศคูค้าที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับในช่วงของไตรมาสสุดท้ายซึ่งจะมีการเทศกาลต่างๆไม่ว่าจะเป็นคริสต์มาส ปีใหม่ จะเป็นแรงบวกส่งให้มีความต้องการสินค้ามากขึ้นไปอีก ก็จะทำให้การส่งออกในภูมิภาคนี้เริ่มกลับมาขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
ในส่วนของการส่งออกของไทยแม้ว่าจะส่งออกส.ค. จะปรับตัวลง แต่ก็ยังขยายตัว โดย “ภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ “ มองว่า การส่งออกของไทยยังเติบโตได้ต่อเนื่องดูจากการนำเข้าที่มีอัตราการการขยายตัวต่อเนื่อง ถือเป็นตัวส่งสัญญาณที่ดี ซึ่งการนำเข้าในเดือนส.ค. มีมูลค่า 23,191.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 47.92% โดยการนำเข้าในเดือนส.ค.ขยายตัวอยู่ในระดับสองหลัก จากการนำเข้า สินค้าเชื้อเพลิง 81.80 % สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มีมูลค่าสูงขยายตัวถึง 65.73% สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 47.30 % การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 23.82%
สาเหตุของการขยายตัว 2 ปัจจัยสำคัญ 1.การฟื้นตัวของภาคการผลิต เพื่อการผลิตและส่งออก 2.ราคาสินค้าวัตถุดิบยังขยายตัวสูงขึ้นตามความต้องการใช้สินค้าทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งน้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลเพื่อมาใช้ในการขยายตัวของภาคการผลิต
นายภูษิต กล่าวย้ำว่า การส่งออกที่เหลือในปี 2564 สนค. ประเมินว่ายังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง แม้การขยายตัวอาจจะชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเริ่มปรับตัวสูงจากในช่วงปลายปีที่แล้วอุปสงค์จากต่างประเทศ มีทิศทางฟื้นตัวดีมาก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกประเทศคู่ค้าสำคัญ การคลายล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ