“กสิกรไทย” คาด “เงินบาท” สัปดาห์หน้าอ่อนค่าต่อแตะ 33.80 บาทต่อดอลลาร์

“กสิกรไทย” คาด “เงินบาท” สัปดาห์หน้าอ่อนค่าต่อแตะ 33.80 บาทต่อดอลลาร์

ธนาคารกสิกรไทย มองเงินบาทสัปดาห์หน้า (27 ก.ย.-1 ต.ค.) แกว่งในกรอบ 33.00-33.80 บาทต่อดอลลาร์ รอติดตามผลประชุมกนง. เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิด ด้านบล.กสิกรไทย ประเมินกรอบหุ้นไทยแนวรับที่ 1,610 และ 1,600 จุด แนวต้าน 1,645 และ 1,655 จุด

ค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-23 ก.ย.) ทยอยอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยเมื่อวันพฤหัสบดี (23 ก.ย.) ขึ้นไปทดสอบระดับ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 ปี ก่อนจะกลับมาปิดที่ระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์เทียบกับ 33.22 บาทต่อดอลลาร์ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 ก.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (27 ก.ย.-1 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิด และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนส.ค. ของธปท.

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนก.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และ PCE/Core PCE Price Indices เดือนส.ค. จีดีพีไตรมาส 2 ปี 2564 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์และข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เดือนก.ย. ของจีน ยูโรโซน และสหรัฐ

ส่วนแนวโน้มดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์ถัดไป  (27 ก.ย.- 1 ต.ค.) บล.กสิกรไทย มองว่า จะมีแนวรับที่ 1,610 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,645 และ 1,655 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (29 ก.ย.) ความชัดเจนเกี่ยวกับแผนเปิดประเทศ สถานการณ์โควิด ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core PCE เดือนส.ค. ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ย. ตลอดจนจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2564

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูลดัชนี PMI เดือนก.ย.ของจีน ยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.ย. ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ย.ของญี่ปุ่นและยูโรโซน