ปฎิวัติ "แบงก์" สู่ดิจิทัล เพิ่มสปีดมูลค่าหุ้นยกกลุ่ม
ข่าวใหญ่ยุคหลังโควิด-19 จากการลงจอดย่านแม่ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับโครงสร้างตัวเองไปสู่เทคคอมพานีเต็มรูปแบบ เพื่อทะลายกรอบหรือปลดแอทตัวเองจากการเป็นสถาบันการเงินที่แข่งขันได้ยากในยุคดิจิทัล กลายเป็นคลื่นการเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ในภาคการเงินอีกครั้ง
แนวทาง SCB ประกาศมีเป้าหมายการขยับออกจากธุรกิจธนาคารที่มีกรอบทั้งการบริหารความเสี่ยง การกำกับดูแลจากหน่วยงานอย่างแบงก์ชาติ ทำให้การออกไปแสวงหาโอกาสที่มีความเสี่ยงสูงมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงตามไปด้วยทำได้ยาก
สุดท้ายต้องปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยการปรับเป็นโฮลดิ้งภายใต้ SCBX และให้ธุรกิจดั้งเดิมอย่างแบงก์อยู่ภายใต้โฮลดิ้ง ที่เหลือคือการทำธุรกิจที่เปิดกว้างภายใต้ตระกูล X ทั้งบัตรเครดิต ลิสซิ่ง - สตาร์ทอัพ - การลงทุน -โบรกเกอร์ จนไปถึง ธุรกิจที่ไม่ใช่การเงินอย่างไรเดอร์ “โรบินฮู้ด”
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้มีการโฟกัสไปที่กลุ่มธนาคาร ที่จะเห็นการขยับ รอบใหญ่อีกครั้ง ซึ่งกลยุทธ์ของแต่ละแบงก์ย่อมแตกต่างกันไป ตามโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ รายใหญ่ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงมาต่อเนื่อง ธนาคารกสิกรไทย (KBANK )
ทั้งการจัดตั้ง “กสิกร วิชั่น อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี “ ในประเทศจีน ด้วยภารกิจออกแบบและสร้างระบบเทคโนโลยีหนุนธุรกิจดิจิทัลแบงกิ้งและระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ให้กับธนาคารและลูกค้า การเปิดตัว ‘FinVest’ แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการลงทุน แอพลิเคชั่น ลงทุนทั่วโลกผ่านกองทุน หรือ การให้สินเชื่อดิจิทัลเต็มรูปแบบ “ดอลฟิน มันนี่” กับทางเซ็นทรัล เจดี ฟินเทค และการลงทุนในสตาร์ทอีพ จัดตั้ง “Kasikorn X “ หรือ KX เน้นหากโอกาสเพิ่มรายได้ใหม่ ซึ่งแยกตัวเป็นอิสระจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งสิ่งเดียวที่ยังไม่ดำเนินการคือการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นเหมือน SCB
ฟากธนาคารกรุงเทพ (BBL) ถือว่าเป็นธนาคารที่ขยับตัวช้าที่สุดด้วยขนาดที่ใหญ่และมีวัฒนธรรมองค์กรแบบดั้งเดิม แต่ใช่ว่าจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะดีลการเทคโอเวอร์ธนาคารใหญ่ในอินโดนิเซีย “เพอร์มาตา” ปี 2563 ด้วยเม็ดเงิน 80,000 ล้านบาท บ่งบอกว่ายักษ์ได้ตื่นแล้ว
“เพอร์มาตา” เป็นธนาคาร 1 ใน 10 ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียมีฐานลูกค้ากว่า 3 ล้านราย ผ่านสาขาทั่วประเทศอินโดนีเซีย โดยเป็นหนึ่งในธนาคารที่ริเริ่มการให้บริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) และเทคโนโลยีการชำระเงินออนไลน์ รวมถึง PermataMobile X ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มีกว่า 200 ฟังก์ชัน
และนั้นหมายถึง BBL สามารถเข้าสู่ตลาดดิจิทัลแบบทันที และที่สำคัญเป็นการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและท็อป 5 ในโลก ด้วยจำนวนประชากรในอินโดฯที่มีมากถึง 300 ล้านคน ถือว่าเป็นตลาดที่คุ้มค่ากับการลงทุนที่ BBL ขยับตัวช้าว่ารายอื่นแต่มีทางลัดเป็นของตัวเอง
นอกจาก 3 แบงก์ใหญ่แล้ว แบงก์ขนาดกลางล้วนผ่านการปรับตัวและพร้อมเข้าสู่ดิจิทัล ธนาคารกรุงศรี (BAY) มีผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ บริษัทย่อยของเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเซียล กรุ๊ป สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
โดยจัดตั้ง “กรุงศรี ฟินโนเวต “ ลงทุนในสตาร์ทอัพเพื่อมเชื่อมต่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ากับธุรกิจของกรุงศรี อาทิ บล็อกเชน สินเชื่อ อีคอมเมิร์ซ ประกันภัย และการโอนเงินข้ามพรมแดน ได้มีการลงทุนไปแล้วเช่น Grab, Flash Express, Synqa และ Finnomena
บริษัท แอลเอช ไฟแนนซ์เซียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG ซึ่งมี CTBC Bank สถาบันการเงินไต้หวันเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ล่าสุดเป็น 35 % ซึ่งกลุ่มนี้มีศักยภาพการเงินทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน
โดยจะพุ่งเป้าหมายไปที่การให้บริการด้าน Trade Finance ที่ครบวงจรและการให้บริการที่รวดเร็ว การให้บริการด้าน Wealth Management และการให้บริการด้าน Digital Banking ซึ่งถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวอีกแบงก์ที่น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
การที่แบงก์ยอมปฎิวัติตัวเองทำให้มูลค่าหุ้นที่ถูกกดดันจากปัจจัยลบต่างๆ เช่นกฎเกณฑ์บังคับจากแบงก์ชาติ ภาระการจัดชั้นกองทุน ปัญหาหนี้เสียท่วมระบบ คู่แข่งเกิดขึ้นใหม่แต่ต้นทุนต่ำ ทางตันการขยายธุรกิจด้วยฐานสินทรัพย์ที่ใหญ่ ทำให้เห็นมูลค่าซ่อนในธุรกิจแบงก์มากขึ้น จึงทำให้หุ้นแบงก์กลับมาน่าสนใจทันทีในสายตานักลงทุน ซึ่งราคาหุ้นก็พร้อมที่จะปรับมูลค่าเพิ่มตามเช่นกัน