‘สมคิด’ ชี้ SCBX สร้างแรงกระเพื่อมทุกอุตสาหกรรม
สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษาพรรคกล้า และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน มองว่าการเข้ามาของ SCBX สร้างแรงกระเพื่อมทุกอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวรับมือ แนะรัฐพัฒนา“เป๋าตังค์”ขึ้นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษานโยบายด้านเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล พรรคกล้า และอดีตที่ปรึกษาธนาคารกรุงไทย ผู้ร่วมพัฒนาแอพ “เป๋าตังค์”ของธนาคารกรุงไทยและ K-Plus ของธนาคารกสิกรไทย ให้สัมภาษ์ณ์ FM 96.5 คลื่นความคิดในวันนี้(29 ก.ย.) ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการการเงินและการธนาคารของไทย จากกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศจัดตั้งยานแม่ SCBX รุกการเงินดิจิทัล ว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารไทยต่างเริ่มปรับตัวเช่น ธนาคารกสิกรไทย ที่จัดตั้งกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) และในอดีต SCB ก็มีการตั้งดิจิทัล เวนเจอร์ส ซึ่งภายหลังแตกออกมาเป็นเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ฯลฯ เพราะมองว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้ในอนาคต
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของ SCB ในครั้งนี้ เป็นการประกาศว่าธนาคารไม่รีรอที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กร และพร้อมทุบกระปุกเมื่อจำเป็น ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในวงกว้าง เพราะภาคธุรกิจเกิดความรู้สึกร่วมว่าต้องมีความมุ่งมั่น (Aggressiveness) ในการเปลี่ยนแปลงในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะต้องลืมโลกเก่าอย่างธนาคาร เพราะการตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ธุรกิจธนาคารรูปแบบเดิมมีประสิทธิภาพอาจไม่ตอบโจทย์
โดยส่วนตัวแล้วคาดว่าโลกในอนาคตจะไม่มีเงินสดหรือกระดาษแล้ว ขณะที่การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จะมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยลง เพราะเครื่องสามารถคิดเองได้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ( AI) ที่ฉลาดขึ้นเมื่อได้รับข้อมูลมากขึ้น รวมถึงปัจจุบันมีศาสตร์การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) ซึ่งส่งผลให้เครื่องสามารถคิดคล้ายกับคน และเชื่อว่าในอนาคตอาจสามารถคิดได้เก่งกว่าคน
สำหรับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ มองว่าผู้นำมีบทบาทอย่างมาก โดยผู้นำจะต้องเข้าใจว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และไม่สามารถคิดแบบเดิมได้ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือต้องรู้จักความล้มเหลว หากบุคลากรในองค์กรมีความคิดที่ดี ต้องสนับสนุนให้เกิดการทดลอง แม้ว่าจะเฟลหลายครั้ง แต่การล้มเหลวหลายครั้งจะก่อให้เกิดการเรียนรู้
ส่วนบทบาทหน้าที่ของภาครัฐต้องให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี แต่ไม่ควรเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีเอง เนื่องจากภาครัฐมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ อีกส่วนหนึ่งที่ทำได้คือนโยบายดึงคนเก่งกลับเข้ามาพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลจีนและรัฐบาลอินเดียเริ่มดำเนิน นอกจากนี้ ไม่ควรจำกัดเฉพาะคนไทย หากคนต่างชาติที่มีความสามารถอยากเข้ามาทำงานในประเทศควรมีนโยบายรองรับด้วยเช่นกัน
ด้านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง”ที่ได้พัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นที่เรียบร้อยแล้วปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดทดลองใช้เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (Whitelist) รวมถึงอยู่ในขั้นตอนพิจารณาผู้ดูแลแอพพลิเคชั่น เพราะธนาคารกรุงไทยเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเท่านั้น หากมีความชัดเจนในด้านการจัดการและความเป็นเจ้าของ (Ownership) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้
เบื้องต้นอยากให้ภาครัฐสนับสนุนเพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เช่น ภาครัฐอุดหนุนครึ่งหนึ่ง และให้ประชาชนจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง เป็นต้น เพราะอีคอมเมิร์ซ เป็นแพลตฟอร์มที่ต้องลงทุนสูง ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ เช่น“ลาซาด้า” และ “ช้อปปี้” ต่างต้องใช้งบลงทุนในแต่ละปีที่สูง
สำหรับแพลตฟอร์มดังกล่าวแตกต่างจากอีคอมเมิร์ซทั่วไปที่มีอยู่ในตลาด เพราะเป็นการอีคอมเมิร์ซที่ให้บริการผ่านรูปแบบวีดีโอ (Video-based Commerce) เป็นหลัก ลักษณะคล้ายกับแอพพลิเคชั่น “ติ๊กต็อก” ที่สามารถเลื่อนดูวีดีโอได้ ส่งผลให้ผู้ขายสามารถโปรโมทสินค้าที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือจ้างอินฟลูเอนเซอร์เพื่อโปรโมทสินค้าดังกล่าว ส่วนผู้ซื้อหากถูกใจสินค้าสามารถกดสั่งซื้อได้ทันที
อีกด้านหนึ่ง แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซบนเป๋าตังยังมีส่วนที่ให้ผู้คัดสินค้า นำสินค้าที่ไม่ใช่ของตนเองมาขายบนแพลตฟอร์ม เช่น สินค้าจากเกษตรกรที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี โดยสามารถให้ส่วนแบ่งแก่เกษตรกรสูงกว่าค่าดำเนินการในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ระหว่างผลักดันกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (G-Wallet) ให้สามารถใช้กับร้านค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ จากปัจจุบันมีข้อจำกัดสามรถใช้ร่วงกับร้านค้าที่อยู่โครงการของภาครัฐเท่านั้น แม้ศักยภาพของแอพพลิเคชั่นจะสามารถนำไปใช้จ่ายได้เป็นการทั่วไป แต่ติดข้อกำหนดที่ขออนุญาตจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไว้เพียงใช้จ่ายในโครงการรัฐเท่านั้น
ทั้งนี้ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นเป๋าตังมีฐานผู้ใช้รวมกว่า 30 ล้านคน และสามารถรองรับการทำรายการได้มากกว่าวันละ 20 ล้านรายการ
สำหรับการเข้ามาร่วมกับพรรกล้านั้น นายสมคิด กล่าวว่า การเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของพรรคในครั้งนี้ ตนมีหน้าที่ช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพด้านดังกล่าวสูง แต่ยังมีข้อติดขัด้านนโยบาย โดยมองว่าประเทศไทยต้องเร่งปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อลูกหลานในอนาคต เพื่อไม่ให้เป็นเบี้ยล่างของแพลตฟอร์มต่างประเทศ แม้เชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้ แต่ต้องมีอำนาจที่จะทำ และไม่ควรทำในลักษณะต่างคนต่างทำ
ยกตัวอย่างการขอสินเชื่อของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ของธนาคารได้ หากไม่มีหลักประกัน หรือไม่มีกำไรต่อเนื่อง แต่หากประเทศไทยนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบราชการเพื่อให้เก็บข้อมูล จะสามารถนำข้อมูลในระบบมาพิจารณาคะแนนและส่งให้ธนาคารพิจารณาปล่อยกู้แก่ SMEs ได้ เป็นต้น