สศก.เปิดทางปล่อยเงินกู้กองทุนเอฟทีเอ1,000 ล้าน
สศก. MOU 9 หน่วยงานภาคี ภาครัฐ – เอกชน กระตุ้นปล่อยกู้กองทุนเอฟทีเอ1,000 ล้าน พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันให้เกษตรกร ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า
นาย.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) ให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นร่วมกัน ระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) และหน่วยงานภาคีภาครัฐและเอกชน รวม 9 หน่วยงาน ว่า
เกษตรบางภาคของไทย ยังมีปัญหา ทั้งการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ขาดความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงปัญหาการค้าระหว่างประเทศ จากการเจรจาการเปิดการค้าเสรี ทั้งรูปแบบทวิภาคี พหุภาคี ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้สนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต การยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเกษตร ขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อยกระดับรายได้ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
และที่สำคัญ การพัฒนาภาคเกษตรจะขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ ต้องมาจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และสถาบันเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคการเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุน FTA เป็นกองทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการลงนามความร่วมมือกันในวันนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าในทุกๆ กรอบการค้าเสรี ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบ เช่น โคเนื้อ โคนม น้ำนมดิบ ข้าว ชา กาแฟ ผัก และ ผลไม้
สำหรับกองทุนเอฟทีเอฟ มีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2563 ได้รับการจัดสรร 30 ล้านบาท และเป็นเงินที่ได้จากการชำระคืน 150 ล้านบาท ซึ่งอยากให้กลุ่มเกษตรกรเข้ามาใช้กันมากขึ้น โดยสามารถจัดทำแผนธุรกิจเสนอผ่านองค์กรรัฐ และหากต้องการเงินลงทุนมากขึ้น ทางธนาคารเพื่อการทำเข้าและส่งออก หรือเอ็กซิมแบงก์ ก็พร้อมจะให้การพิจารณา โดย สศก. มีแผนจะทำประกันภัยสินค้าเกษตร ในอนาคต เพื่อรองรับปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นด้วย และยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรและสถาบันการเงินด้วย
“กองทุนตั้งขึ้นปี 2547 ปล่อยกู้ไปแล้ว 1,130 ล้านบาท ถือว่ายังน้อยอยู่ ส่วนหนึ่งเพราะเกษตรกรทำแผนธุรกิจไม่เป็น จึงต้องให้ทุกองค์กรเข้ามาช่วย เพราะกองทุนนี้จะเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ “
สำหรับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ชุดความร่วมมือ ประกอบด้วย ชุดที่ 1 ความร่วมมือทางด้านนโยบายและข้อมูล ประกอบด้วย 8 หน่วยงาน คือ สศก. โดยกองทุน FTA ลงนามร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และชุดที่ 2 ความร่วมมือด้านการปฏิบัติงานกับหน่วยงานต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ สศก. โดยกองทุน FTA ลงนามร่วมกับ สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด และ บริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด โดยที่ข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2565
“ทุกหน่วยงานภาคี จะร่วมส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนทั้งองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด ผ่านการจัดฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ บุคลากรภาครัฐ “
นอกจากนี้ จะร่วมกันวางแผนและพัฒนาโครงการเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร โดยหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นผู้เสนอโครงการ ตลอดจนสรรหา คัดเลือกเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่สมควรได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเข้าร่วมโครงการ ในขณะที่กองทุน FTA จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนความรู้ทางวิชาการในการเขียนโครงการ และสนับสนุนงบประมาณให้โครงการที่เสนอตามกฎ ข้อบังคับของกองทุน