“พาณิชย์” เตือนภาคเอกชน ปมลดคาร์บอน ”กีดกันการค้า”

“พาณิชย์” เตือนภาคเอกชน ปมลดคาร์บอน ”กีดกันการค้า”

“อรมน”ชี้ แนวโน้มเวทีการค้าระหว่างประเทศ นำปมสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขทำการค้าระหว่างแประเทศ แนะเอกชนเร่งปรับตัวให้สอดคล้องทิศทางการค้าโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในการสัมมนา GO GREEN เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียว ที่น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ จัดขึ้น ในหัวข้อ GEEN MISSION ปฏิบัติการไทย สู่สังคมโลว์คาร์บอน ลดโลกร้อน ว่า ปัจจุบันทุกเวทีการค้าระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นพหุภาคี ทวิภาคี ต่างให้กับสำคัญกับข้อบทด้านสิ่งแวดล้อม  ไม่ว่าจะเป็นองค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอที่ให้มีการยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการยกเว้นให้สมาชิกจำกัดการนำเข้าเพื่อสิ่งแวดล้อมได้แต่ต้องสมเหตุสมผล มีการตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเวทีหารือหลักเรื่องการค้าและสิ่งแวดล้อม 

“พาณิชย์” เตือนภาคเอกชน ปมลดคาร์บอน ”กีดกันการค้า”

 

ในเวทีเอเปคก็มีการจัดทำบัญชีรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม เพื่อลดภาษีนำเข้าให้เหลือไม่เกิน 5 % ในสินค้า54 รายการ การจัดทำแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่บริการสิ่งแวดล้อม โดยสมาชิกต้องลดภาษี ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของประเทศสมาชิกที่ต้องการทำเรื่องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เวทีสหประชาชาติเองก็มีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีหลักการถึงผลกระทบต่อกาค้าระหว่างประเทศ

ด้านเวทีข้อตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอในปัจจุบันก็มีข้อบทเรื่องสิ่งแวดล้อมและข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น เอฟทีเอสหภาพยุโรปหรือียูที่ทำกับประเทศต่างๆก็มักจะมีข้อบทที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศที่ทำเอฟทีเอให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยมีเอฟทีเอ 13 ฉบับที่ได้ทำไปแล้วยังไม่มีข้อบทเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่ปัจจุบันหากจะทำเอฟทีเอใหม่ก็จะมีเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเกี่ยวข้อง ส่วนอาเซียนเองก็มีAEC Blueprint 2025 กำหนดให้เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และรับรองกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับAEC โดยมอบให้ฝ่ายเลขาธิการอาเซียนไปศึกษากลยุทธ์ในการทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความเป็นกลายทางคาร์บอน รวมทั้งการทำเอฟทีเอกับหลายประเทศ ทางประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเสนอให้มีการอัพเกรดเอฟทีเอให้มีข้อบทเรื่อง ของสิ่แวดล้อมด้วยเช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการนำสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น มาตรการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU คดีกุ้ง-เต่า ที่ สหรัฐห้ามนำเข้ากุ้งจากไทย คดีแร่ร์เอิร์ธ ของจีนที่ห้ามส่งออก ซึ่งแร่ดังกล่าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องโทรศัพท์ การต่อต้านการละเมิดสวัสดิภาพสัตว์ในการผลิตสินค้า เช่นในการกรณีลิงเก็บมะพร้าว การกำหนดให้แสดงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก ทั้งการปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถืงประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้า ใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว