“มูลค่าเพิ่ม-กำลังผลิตเท่าตัว” วิถีโต CPANEL
เมื่อธุรกิจ “ซีแพนเนล” เข้ามา “ปลดล็อก” ปัญหาลูกค้าพบเจอและต้องการแก้ไขในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ “ชาคริต ทีปกรสุขเกษม” ผู้ก่อตั้ง พร้อมนำแผนธุรกิจโลดแล่น เร่งสร้างโรงงานใหม่ กำลังผลิต “เท่าตัว” รับดีมานด์แผ่นพื้นและผนังสำเร็งรูป หลังสินค้าตอบโจทย์ยุคโควิด-19
ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารหนุ่มคนนี้ไม่ธรรมดา !! เพราะเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ บมจ.ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี หรือ CCP ที่เป็นแกนหลักช่วยที่บ้านในการดูแลบริษัทพร้อมนำ CCP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ บมจ. สมาร์ทคอนกรีต หรือ SMART จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ก่อนที่ตัดสินใจออกมาทำธุรกิจของตัวเองเมื่อปี 2556
และล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 “ชาคริต ทีปกรสุขเกษม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL ส่งธุรกิจที่ก่อสร้างมาด้วยมือตัวเองเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอ ไอ (mai) โดยเข้าซื้อขายวันแรกราคาหุ้นพุ่ง 45% มาอยู่ที่ 8.70 บาทต่อหุ้น จากราคาไอพีโอที่ 6 บาทต่อหุ้น ก่อนจะปิดตลาดวันนั้นอยู่ที่ 7.30 บาทต่อหุ้น !
ด้วย “จุดเด่น” คือ การต่อยอดสินค้าให้เป็น “มูลค่าเพิ่ม” (High Value) และพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีและใช้ระบบ Fully Automated ปัจจัยการเติบโตมาจากตลาดอสังหาริมทรัพย์แนวราบที่ขยายตัวและนิยมใช้ “แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป” (Precast) มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน CPANEL ถือเป็นผู้นำเทรนด์นวัตกรรมงานก่อสร้างการผลิตและจำหน่ายแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป
“ชาคริต ทีปกรสุขเกษม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL เล่าให้ "กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า “จุดเริ่มต้น” การดำเนินธุรกิจของบริษัทเกิดจากการชักชวนของ “ลูกค้านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” (Developer) หลายราย เนื่องจากช่วงนั้นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มเผชิญปัญหาแรงงานทั้งด้านจำนวนและคุณภาพ ลูกค้าจึงต้องการผลิตภัณฑ์ที่จะมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทเองก็อยู่ในวงการก่อสร้างอยู่แล้ว รวมไปถึงมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้อยู่เสมอ จึงเล็งเห็นเทรนด์การเติบโตของผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) ซึ่งนำมาสู่การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ (Fully Automated Precast)
แม้ว่าวงการวัสดุก่อสร้างมีคู่แข่งมากมาย แต่ด้วยความแข็งแกร่งของทีมบุคลากรที่เชี่ยวชาญรวมไปถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ในมิติต่างๆ ของผู้พัฒนาอสังหาฯ โดยเฉพาะการประหยัดทั้งเรื่องเวลาและต้นทุน ทำให้ลูกค้ามีความพอใจผลิตภัณฑ์อย่างมาก ก่อให้เกิดการบอกต่อแนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทในวงการอสังหาฯขยายเป็นวงกว้าง
"การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คำตอบคือทีม ซึ่งวันนี้ทุกคนคิดว่าวัสดุก่อสร้างใครก็ทำได้ มีการซื้อเครื่องจักรมาทำกันเต็มไปหมด แต่สุดท้ายก็จะเห็นว่าคนที่อยู่รอดก็คือคนที่เก่ง อีกอย่างคือเรารู้จักกับ Developer รายใหญ่ซึ่งพอเค้าเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของเราแล้ว”
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์อาจมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะว่ายังมีในบางอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง อาทิ โครงการแนวราบ , โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ , โรงพยาบาล เป็นต้น สะท้อนผ่านในช่วงที่ผ่านมาบริษัทสามารถเติบโตได้แม้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ด้วยบริษัทมีเทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง และมีแนวโน้มเข้ามาทดแทนการก่อสร้างแบบเดิม ดังนั้น จึงมีโอกาสเติบโตจาก “ความต้องการ” (ดีมานด์) ที่ทยอยเพิ่มขึ้น และจากความสามารถในการบริหารต้นทุนการผลิตได้อย่างดี ในขณะที่สินค้ายังคงมีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากลที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน อีกทั้ง บริษัทรักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้จำหน่ายวัตถุดิบ และลูกค้าที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำมาเป็นเวลานาน
การเข้าระดมทุนครั้งนี้ ! เพื่อปลดล็อคการเติบโตในอนาคต หลังบริษัทมีเป้าหมายสร้างการเติบโต “เท่าตัว” สะท้อนผ่านแผนการใช้เงินระดมทุนลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิต Precast Concrete แห่งใหม่ จากโรงงานผลิตแห่งเดิมมีกำลังการผลิตที่ 720,000 ตารางเมตรต่อปี ดังนั้น การสร้างโรงงานแห่งใหม่ก็จะมีกำลังการผลิต “ที่เท่ากัน” ทำให้บริษัทจะมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,400,000 ตารางเมตรต่อปี
โดยเบื้องต้นใช้เงินลงทุนประมาณ 100-150 ล้านบาท คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาส 2 ปี 2565 และจะแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องทดสอบการทำงาน (Commissioning Tests) ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 และคาดจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 1 ปี 2567 เป็นต้นไป และเงินที่เหลือจะนำไปชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน 50-100 ล้านบาท จะประหยัดดอกเบี้ยจ่าย
และทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจุบัน D/E อยู่ที่ 2.5 เท่า หลังระดมทุน IPO นำเงินไปคืนสถาบันการเงิน จะทำให้ D/E ลดลงมาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 0.5 เท่า ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งแง่ฐานเงินทุน รองรับการขยายตัวใน 5 ปีข้างหน้า และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ 20.40 ล้านบาท
ขณะที่ ปัจจุบันศักยภาพทำกำไรคือระดับอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของบริษัทอยู่ที่ 37% และมีอัตรากำไรสุทธิ (Net profit Margin) อยู่ที่ราว 10% ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของโควิด-19ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวหันมาใช้พรีแคสเพื่อทดแทนการก่อสร้างแบบดั่งเดิมมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทใช้กำลังการผลิต 70% และจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น
สะท้อนผ่านผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) บริษัทมีรายได้รวม 263.28 ล้านบาท 322.35 ล้านบาท 221.16 ล้านบาท และงวด 6 เดือนปี 2564 มีรายได้รวม 157.28 ล้านบาท ขณะที่ บริษัทมีกำไรสุทธิในปี 2561-2563 เท่ากับ 31.39 ล้านบาท 36.61 ล้านบาท 13.13 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวมเท่ากับ 11.92% ,11.36% , 5.94% ตามลำดับ
“ผลงานที่ผ่านมาโรงงานแห่งแรกใช้เวลา 1 ปี ก็สามารถ Break event แล้ว ซึ่งเชื่อว่าโรงงานที่ 2 เราเชื่อมั่นว่าจะทำได้ดีกว่านั้น อย่างแรกคือลูกค้าเชื่อเราแล้ว มี Backlog รอแล้ว เข้าใจเทคโนโลยี และโรงงานแห่งที่สองต้นทุนที่เป็น Fix Cost จะลดต่ำลงเรื่อยๆ เป็นไปตามหลัก Economy Of Scale (การประหยัดต่อขนาด) พอผ่านจุด Break event ไปแล้วศักยภาพทำกำไรดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
โดยบริษัทคาดรายได้ปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 350 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 59% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ระดับประมาณกว่า 220 ล้านบาท และกำไรประมาณ 13 ล้านบาท ซึ่งในปีก่อนได้รับผลกระทบโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชะลอการก่อสร้าง ทำให้บริษัทรับรู้รายได้ครึ่งปีแรกของปี 2563 ต่ำกว่าปกติ
เมื่อพิจารณาครึ่งแรกปี 2564 บริษัทมีรายได้ที่ 157.28 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิแล้ว 16.78 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการพรีคาสต์คอนกรีตยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันภาพรวมยอดขายบ้านยังเติบโตได้ดี โดยกลุ่มลูกค้ากลับมาเร่งสร้างบ้านมากขึ้น แต่สภาวะผลกระทบจากโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ภาคแรงงานขาดแคลน ดังนั้นสินค้าพรีคาสต์คอนกรีตจะตอบโจทย์กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้
อีกทั้งในปีหน้าจะเริ่มมีการเปิดโครงการแห่งใหม่ๆ และการซ่อมแซม หรือขยายโรงแรมมากขึ้นช่วยหนุนความต้องการดังกล่าว
โดยคาดว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุนงานในมือ (Backlog) ในปีหน้าโตได้อีก 25-30% จากปีนี้ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมี Backlog แล้ว ประมาณ 1,156 ล้านบาท รับรู้ในช่วงครึ่งปีหลัง 200 ล้านบาท , ปี 65 อีก 500 ล้านบาท และปี 66 อีกประมาณ 400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในช่วง 1-2 เดือนนี้ บริษัทจะเซ็นสัญญางานใหม่เพิ่มอีก 70 ล้านบาท เข้ามาเพิ่ม Backlog ทั้งนี้ส่วนใหญ่บริษัทมีรายได้จากภาคอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 80-90% และอื่นๆ จากโรงงาน เป็นต้น
ท้ายสุด “ชาคริต” ทิ้งท้ายไว้ว่า เรามีเป้าหมายการเติบโตในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า หลังจากได้เงินระดมทุนมาสร้างโรงงานแห่งที่ 2 แล้ว ซึ่งจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ยอดขายโตขึ้นตาม อยากให้นักลงทุนมองเราในเชิง Growth Company