กอบศักดิ์ ภูตระกูล ชี้ 6 การปรับตัวของแบงก์ สู่ยุคใหม่ หลังวิกฤติโควิด -19
"กอบศักดิ์ ภูตระกูล" ชี้ชะตากรรม ระบบการเงินยุคใหม่ หลังวิกฤติโควิด -19 "ธนาคารเสี่ยงหายไป" จากฟินเทค โจทย์ใหญ่ท้าทายที่ต้องเร่งปรับตัวใน 5-10 ปีข้างหน้า ย้ำความเชื่อถือ และ 6 กระบวนท่าที่ต้องเร่งเปลี่ยนแปลงเพื่ออยู่รอดให้ได้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL กล่าวในหัวข้อ ธุรกิจแบงก์พาณิชย์ กับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ หลังวิกฤติโควิด -19 จัดโดยโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) 2564 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า ในบริบทการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีก่อนหน้าเกิดวิกฤติโควิด -19 เป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวรับมือกับช่องทางใหม่ คือ "ดิจิทัล" ที่นำพาผู้เล่นรายใหม่ คือ "นอนแบงก์" อย่างฟินเทค ทั้งในไทยและต่างประเทศ เข้ามาแข่งขันแย่งชิงพื้นที่บริการและรายได้ที่เคยเป็นของธนาคารพาณิชย์มากขึ้นๆ
นับเป็นโจทย์ใหญ่ต่อธุรกิจพาณิชย์ที่ต้องรีบปรับตัวก่อนถูกดิสรับกันมาแล้ว โดยจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ ธนาคารพาณิชย์ ปรับลดสาขา พัฒนาอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงก์กิ้ง รวมถึงการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อก้าวสู่สังคมไร้เงินสด
และในขณะเดียวกัน ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ยิ่งกลายเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเร็วขึ้น ทำให้ระบบการเงินในอนาคต ยุคใหม่หลังวิกฤติโควิด-19 คิดว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องเผชิญ คือ "แบงก์อาจจะหายไปได้" หมายถึง ในอนาคตการทำธุรกิจกรรมทางการเงินยังคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ธนาคารพาณิชย์อาจไม่จำเป็น
นี่คือปัญหาโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสำหรับ“ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์” ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้านี้ เป็นชะตากรรมของธนาคารพาณิชย์ ต้องหาพื้นที่อยู่ให้ได้ ต้องปรับตัวให้เร็วและออกไปแย่งชิงพื้นที่ใหม่
"แบงก์กำลังถูกถอดแทนจากช่องทางใหม่และผู้เล่นใหม่ หลังจากดิสรับปชั่นเทคฯ และวิกฤติโควิด ยิ่งสาดปัญหานี้เข้ามา คือ หลังโควิด การฝากและกู้เงินยังจำเป็น แต่แบงก์อาจไม่จำเป็น เป็นคำถามที่น่าคิดมากและต้องคิดหนักอย่างมา เรากลัวคู่แข่งที่มาจากนอกแบงก์ เช่น ฟินเทค ทำได้ดีกว่าด้วยดิจิทัล ในขณะที่แบงก์ยังต้องแบกภาระที่เคยเป็นความเข้มเข็ง เช่น สาขา ตู้เอทีเอ็ม เครื่องอีดีซี หรือระบบที่เกี่ยวกับเงินสด อย่างเช่น ศูนย์เก็บเงินสด รถขนเงิน ซึ่งปัจจุบันเป็นต้นทุน บริการที่เคยมีกลายเป็นความเสี่ยง อีกทั้งยังต้องลงทุนพัฒนาดิจิทัลรองรับแข่งกับนอกแบงก์แล้วยังต้องแข่งกับดิจิทัลแบงก์ด้วยกัน"
ความเชื่อถือ + 6 กระบวนท่าที่แบงก์ต้องปรับตัว
สำหรับ การปรับตัวของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ในยุคใหม่หลังวิกฤติโควิด -19 นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับธนาคารกรุงเทพ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวเสมอว่า หัวใจของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ยังขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อถือ” ของลูกค้า
ขณะที่การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ ส่วนตัวมองว่า มี 6 เรื่องที่ต้องทำ ดังนี้
1. ลด 3.0 คือ บริการยุคเก่า เช่น สาขา ตู้เอทีเอ็ม เครื่องอีดีซี เครื่องนับเงิน รถขนเงิน ศูนย์เก็บเงิน บัญชีธนาคาร
2.นำ 4.0 มาใช้ในทุกมิติ เช่น แบงก์กำลังเตรียมตัวในเรื่องดิจิทัลแบงก์ อีวอเลตมาแทนบัญชีเงินสด โมบายแบงกกิ้ง มาแทนสาขา เป็นต้น และการมาของเงินดิจิทัลที่ผูกกับเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจะทำให้การใช้เงินสดหายไป
3.ใช้ประโยชน์จาก กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ที่ปัจจุบันบิ๊กเดต้า เป็นสิ่งที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังมีความได้เปรียบมากกว่าฟินเทค และมีอาลีบาบาเป็นต้นแบบที่ดีของการพัฒนาดังกล่าว
“จะเห็นว่าฟินเทค เข้ามาเร็วแต่ยังไปไม่ได้ไกล คือ เข้ามาแต่ยังดิสรับแบงก์ได้ทั้งหมดเหมือนอย่างอาลีบาบาของจีน เพราะยังไม่มีบิ๊กเดต้าเท่าแบงก์ แต่ฟินเทคไทยจะมีความเข็มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เป็นความเสี่ยงที่แบงก์จะถูดกัดกร่อนลงไป”
4.การเชื่อมโยงกับลูกค้า คือการให้บริการลูกค้านำข้อมูลที่เป็นเอกสารมาเชื่อมต่อเข้ากับระบบดิจิทัลของแบงก์ทำให้บริการในอนาคตได้อย่างไม่สะดุด
5.ก้าวสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง คือ การเตรียมแฟลตฟอร์มดิจิทัลแบงก์เองหรือการมีฟินเทคที่อยู่ในแบงก์
6.การทำงานกับพาร์ทเนอร์ ในการพัฒนาแฟลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ไลน์ โชปี่ ลาซาด้า เคอรี่ เดลิเวอร์รี่ อีมาร์เก็ตเพลส เป็นต้น
"แบงก์ต้องเปิดกว้างทำงานกับกลุ่มเหล่านี้ให้ได้ เพื่อที่เราต้องกระเสือกกระสนให้มีชีวิตอยู่ได้ให้ 5-10 ปี หลังจากนี้แบงก์จะมีความลำบากมากขึ้น แบงก์ต้องคิดมากขึ้นว่าจะอยู่อย่างไร แบงก์จะมีขนาดเล็กลลง ในแง่ที่ สาขา รถขนเงิน เครื่องเอทีเอ็ม อีดีซี น้อยลงหรือแทบจะหายไปหมดเลย และมีดิจิทัลมาทดแทน ตอนนี้ แบงก์กำลังเตรียมการดิจิทัลแบงก์กิ้ง ทำโมบายแบงก์ ดิจิทัลเดต้า และทำงานเชื่อมโยงกับพาร์ทเนอร์ คือ ทำงานกับดิจิทัลแบงก์ และพาร์ทเนอร์ อย่างฟินเทค ซึ่ง ฟินเทคต้องการทำงานกับแบงก์ เพราะต้องการข้อมูล อยู่ที่ว่าจะเอาฟินเทคมาส่วนหนึ่งของแบงก์หรือเป็นพาร์ทเนอร์ที่แท้จริงในการแชร์ข้อมูล เพื่อให้บริการในอีโคซิสเต็มส์เดียวกัน"
เชื่อ "ลูกค้ากลุ่มท็อป" ยังอยู่กับแบงก์
ทั้งนี้ บริการธุรกรรมทางการเงินที่จะอยู่กับ “ธุุรกิจธนาคารพาณิชย์” ต่อไป คือ สิ่งที่คนอื่นมาแทนแบงก์ได้ยาก เช่น บริการธนาคารสำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กร (คอร์ปอเรทแบงก์กิ้ง) และ บริการด้านการเงินและการลงทุนครบวงจรสำหรับกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง ( ไพรเวทแบงก์กิ้ง ) จะยังคงอยู่กับแบงก์เนื่องจากทั้งสองกลุ่มนี้ ฟินเทคเข้ามาให้บริหารได้ยาก เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าคอร์ปอเรท ต้องการวงเงินสินเชื่อเป็นหลักหลายหมื่นล้านบาท หรือกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง ต้องการบริการลงทุนจากทีเดียวครบวงจร แต่อย่างไรก็ตามการให้บริการต่างๆ แบงก์สามารถผูกโยงกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ เพื่อสร้างระบบอีโคซิสเต็มท์ของการทำธุรกรรมเสริมต่างๆ ที่ทำให้ลูกค้าระดับบนได้่รับบริการที่ดีขึ้น
ส่วนกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีนั้น มองว่า บางส่วนยังอยู่กับแบงก์ได้ ในกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อเป็นหลักร้อยถึงพันล้านบาทขึ้นไป แต่แบงก์ก็สามารถที่จะออกไปหาพื้นที่ใหม่ๆ ในกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็กลงได้เช่นเดียวกับฟินเทค แต่ต้องไปในลักษณะของดิจิทัลแบงก์กิ้ง ซึ่งสามารถนำฟินเทคมาเป็นพาร์ทเนอร์หรือสร้างฟินเทคในแบงก์เองก็ได้
ในขณะที่บริการทางการเงินสำหรับรายยย่อย หรือ รีเทลแบงก์กิ้ง ตอนนี้ถือเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์มากที่สุด แบงก์ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ ต้องพยายามสร้าบ้านใหม่ด้วยตัวเราเอง อย่างให้คนอื่นสร้าง เชื่อว่าทุกธุรกิจธนาคารพาณิชย์ พยายามเปลี่ยนเป็น 4.0 ในยุคหลังโควิดให้ได้
โจทย์ใหญ่หลังโควิด "ทำไมลูกค้ายังต้องการแบงก์"
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่ "ธนาคารพาณิชย์" ต้องต้องถามและตอบตัวเองให้ได้ว่า “อะไรยังต้องอยู่หรือไม่อยู่กับแบงก์ และแบงก์จะออกไปแย่งพื้นที่ตรงไหน” และที่สำคัญคือ "ทำไมลูกค้ายังต้องการแบงก์อยู่" ถ้าเราตอบคำถามเหล่านี้ได้ และทำได้ดี ก็จะทำให้สามารถอยู่ในยุคหลังวิกฤติโควิด-19 ต่อไปได้
"เชื่อว่า ทุกแบงก์ต้องปรับตัวให้เร็ว เพื่อหาพื้นที่อยู่รอดให้ได้ แบงก์ใหญ่ ยิ่งปรับตัวช้า พื้นที่เล่นก็จะถูกกินไปเรื่อยๆ ส่วนแบงก์เล็ก ก็ยิ่งอยู่ยากขึ้นสุ่มเสี่ยงให้ควบรวมกัน อาจต้องทำเรื่องที่ทำได้ดีเป็นพิเศษหรือจับมือกับพา่ร์ทเนอร์เพื่ออยู่ให้รอด ทุกแบงก์ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กถ้าไม่ปรับก็จะหายไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรอบนี้"