โควิด หนุนพฤติกรรม "ช้อปเอาคืน" ชดเชยความเครียด สกินแคร์ มือถือ ได้อานิสงส์

โควิด หนุนพฤติกรรม "ช้อปเอาคืน" ชดเชยความเครียด สกินแคร์ มือถือ ได้อานิสงส์

ฮาคูโฮโด ชี้ความสุขคนไทยลดต่ำสุดรอบปี แต่การใช้จ่ายสวนทาง เริ่มคึกคัก ดีดตัวสูงสุดในรอบปี เหตุความเครียด หนุนพฤติกรรมชอปปิงออนไลน์ สินค้าความงาม สกินแคร์ มือถือ มาแรง ย้ำสัญญาณบวกการใช้จ่ายเริ่มปกติ แต่ผู้ใหญ่ยังรัดเข็มขัด หวั่นความไม่แน่นอนสูง

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และไม่ใช่เศรษฐกิจ สังคมที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังกระเทือนถึงสุขภาพจิต  คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมากด้วย 

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอก 4 พฤติกรรมผู้บริโภคมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่วนใหญ่ยังคงเฝ้าระวังต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับรายได้ที่ไม่มั่นคง กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายหลังวิกฤติโควิด-19 

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมมือกับ บริษัท สไปซี่ เอช จำกัด ลงพื้นที่สำรวจและการคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยประจำเดือนตุลาคม 2564 พบว่า ความสุขคนไทยต่ำสุดในรอบปี อยู่ที่ 59% ลดลง  4% จากเดือนสิงหาคม แต่ความต้องการใช้จ่ายกลับดีดสูงสุดที่585  โดยปัจจัยหลักยังคงเป็นสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เพื่อลดความเครียดจากการทำงานในช่วงที่ต้องอยู่บ้าน และหาสินค้าเพื่อการปรับตัวและดำเนินชีวิตให้มีความสุขในยุคโควิด เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน เครื่องนอน

โควิด หนุนพฤติกรรม \"ช้อปเอาคืน\" ชดเชยความเครียด สกินแคร์ มือถือ ได้อานิสงส์

ชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย ประเด็นที่คนไทยติดตามมากที่สุด ยังหนีไม่พ้นปัญหาและสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งนับเป็นประเด็นที่สำคัญและส่งผลต่อความสุขของคนไทยในระยะยาว รวมไปถึงประเด็นที่คนไทยให้ความสนใจไม่แพ้กันคือ มาตรการเยียวยาของทางภาครัฐก็ดี แนวโน้มของสถานการณ์ล็อคดาวน์ที่ดูจะคลี่คลายไปบ้างก็ดี รวมถึงประเด็นร้อนแรงอย่างเรื่องวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ ที่จะนำเข้ามายังประเทศไทย อีกทั้งเรื่องความต้องการของชุดตรวจ ATK ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของคนไทย ที่ยังต้องเฝ้าระวังตัวจากโควิด-19 

 

นอกจากนี้ ผลสำรวจเราพบข้อบ่งชี้สำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ 2 ข้อด้วยกัน ได้แก่

1. นักการตลาดเตรียมสร้างโอกาสทองจากการ “ช้อปเอาคืน” (Be ready for upcoming ‘Revenge shopping’)  จากความสะดวกสบายในการชอปปิงออนไลน์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 (COVID-19) ในประเทศไทย กลายเป็นแรงผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น  ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ออนไลน์ชอปปิง เป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดลูกค้าด้วย โปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ทั้งรูปแบบฟรีค่าจัดส่ง หรือโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 เพื่อเพิ่มยอดขาย 

ทว่า ยังมีผู้บริโภคบางส่วนที่ยังต้องการอยากจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและคลายความตึงเครียด เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคได้ออกมา “ช้อปเอาคืน” เพื่อชดเชยความรู้สึกที่อึดอัด และคลายความตึงเครียดผ่านการซื้อสินค้านอกบ้านร่วมกับคนในครอบครัว

2. ผู้หญิงอย่าหยุดสวย “คืนความสุขให้ผู้หญิง” ด้วยการช้อปปิ้ง / Refresh the happiness of women โควิด-19ระบาด ทำให้ผู้บริโภคเพศหญิงต้องแบกภาระที่หนักหน่วง ทั้งการทำงาน เลี้ยงลูกน้อย หรือแม้แต่การดูแลงานบ้าน แต่ยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อหาความสุขให้ตัวเองเพิ่มมากขึ้น โดยซื้อสินค้าประเภทสกินแคร์และเครื่องสำอางติดอันดับ 1 ใน 5 ยอดนิยม และถูกช้อปเพิ่มขึ้น  อีกกลุ่มสินค้าที่น่าจับตา คือความต้องการใช้จ่ายในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และเครื่องเสียง เพิ่มมากขึ้นด้วย 

โควิด หนุนพฤติกรรม \"ช้อปเอาคืน\" ชดเชยความเครียด สกินแคร์ มือถือ ได้อานิสงส์

“แม้ว่าจะไม่ได้ออกจากบ้าน แต่ผู้หญิงยังอยากให้ตัวเองดูสวยอยู่ตลอดเวลา ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมเช่นกัน พราะสินค้าเหล่านี้เติมเต็มความสุขให้ผู้หญิงได้เป็นอย่างดี” 

 ทางด้าน นางสาวชุลิกา สายศิลา ผู้จัดการด้านงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สไปซี่ เอช จำกัด ย้ำผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคช่วงอายุ 20-29 ปี จะเน้นการหาความสุขให้กับตัวเอง ด้วยการใช้จ่ายสินค้าเพื่อดูแลตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสกินแคร์และเครื่องสำอางยังคงเป็นสินค้ายอดนิยมและมาแรงอย่างมาก ส่วนสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ยังคงเป็นสิ่งของจำเป็น ซึ่งสามารถนำมาใช้ร่วมกับงานที่ตัวเองทำและสร้างความสุขให้กับตัวเองได้อีกด้วย

 ส่วนผู้บริโภคกลุ่มอายุ 40-49 ปี ยังคงมีการใช้จ่ายเพื่อดูแลครอบครัวเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเทอมบุตร-หลาน การซื้อนมให้ลูกการดูแลพ่อแม่สูงวัย เป็นต้น 

“ผู้ใหญยังคงใช้จ่ายโดยไม่ประมาท รัดเข็มขัดรายจ่ายมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงและการออมเงิน รองรับกับความไม่แน่นอนทางสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน”

เมื่อแบ่งสัดส่วนตามภูมิภาค หลังจากภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ทำให้ผู้คนต่างกลับภูมิลำเนาและวางแผนอยู่แบบระยะยาว คนในพื้นที่ภาคอีสานยังมีความต้องการใช้จ่ายสูงสุด  เกิดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการใช้ชีวิต ภาคกลางซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น เครื่องนอน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รองรับการทำงานและสร้างความสุขส่วนตัว ส่วนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบว่าสถานะทางการเงินมีแนวโน้มดีขึ้น และมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิงออนไลน์เพื่อลดความตึงเครียด 

สำหรับ 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่คนไทยใช้จ่ายมากที่สุดในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ เป็นกลุ่มสินค้าที่จำเป็นในใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งได้แก่

  • อาหาร 31%
  • สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน 14%
  • สมาร์ทโฟนและโทรศัพท์มือถือ 10% 
  • อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต 7% 
  • เครื่องสำอางและสกินแคร์ 5%
  • โควิด หนุนพฤติกรรม \"ช้อปเอาคืน\" ชดเชยความเครียด สกินแคร์ มือถือ ได้อานิสงส์

ณัฐชมนต์ นพอนันต์โภคิน ผู้จัดการด้านงานวางแผนกลยุทธ์  บริษัท สไปซี่ เอช จำกัด กล่าว่า ผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนตุลาคม 2564 ได้รับผลกระทบจากความยืดเยื้อของสถานการณ์โควิด หรือที่เรียกว่า Long Covid ทำให้พฤติกรรมของคนไทยให้ความสนใจกับข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น คิดเป็น 48% ข่าวสารยอดขายยอดนิยมยังเกี่ยวข้องกับโควิด มาตรการเยียวยาของภาครัฐ หรือแม้แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ในแต่ละวัน ตามด้วยเรื่องการเมือง การเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบ และการชุมนุมต่าง ๆ ถึง 24% ซึ่งถือว่าได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นถึง 16%  

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นร้อนรอบโลก และความเป็นไปในต่างประเทศอย่างตาลีบันบุกยึดประเทศอัฟกานิสถาน 3% ตามมาด้วยข่าวคดีผู้กำกับโจ้ เศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ เป็นที่น่าสนใจว่าในสถานการณ์โควิด-19 อันตึงเครียดและไม่แน่นอนนั้น ยังมีหัวข้อใหม่ ๆ ในผลวิจัยนี้คือเรื่อง Popcat เกมส์ และกีฬา ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงต้องการด้านความบันเทิง เพื่อผ่อนคลายและหาความสุขตามสภาพแวดล้อมของตนเอง

สำหรับ “การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย” เดือนตุลาคม 2564 สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้ดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 17-26 สิงหาคม 2564 โดยจัดทำทุกๆ 2 เดือนร่วมกับบริษัทในเครือ เพื่อมุ่งเน้นการคาดการณ์แนวโน้มของผู้บริโภคชาวไทยในอนาคต กลุ่มผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบไปด้วยเพศชายและเพศหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ