"สรรพสามิต" เล็งเก็บภาษี "Carbon tax" ภาคอุตสาหกรรม
สรรพสามิตเล็งเก็บภาษีCarbon taxในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มรายได้เพื่อทดแทนภาษีน้ำมันที่จะลดลงจากนโยบายการส่งเสริมใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตมีแนวคิดต่อการเก็บภาษี Carbon tax จากอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม และ ในอนาคตคนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้จากภาษีน้ำมันของกรมฯปรับลดลงตามไปด้วย
เขากล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยมีเป้าหมายในระยะสั้นนี้ว่า ภายในปี 2568 จะต้องมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ของประเทศ ซึ่งหมายความว่า การใช้น้ำมันในรถยนต์จะน้อยลง ทำให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ลดลงตามไปด้วย
“แนวคิด Carbon Tax จะเป็นการจัดเก็บภาษีจากอุตสาหกรรมที่ปล่อย Carbon ซึ่งหากปล่อยออกมามาก ก็จะถูกจัดเก็บภาษีมากกว่า อุตสาหกรรมที่ปล่อย carbon น้อยกว่า ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นแนวคิดที่อยู่ในระหว่างการศึกษา”
สำหรับ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า นั้น ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรมฯ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
ปัจจุบันโครงสร้างภาษีรถยนต์ของกรมฯ นอกจากจะใช้ขนาดของเครื่องยนต์เป็นตัวกำหนดอัตราภาษีแล้ว ยังนำเรื่องการปล่อย CO2 มาใช้กำหนดอัตราภาษีด้วย เช่น รถยนต์นั่ง หากปล่อย CO2 เท่ากับหรือน้อยกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 30% ขณะที่ รถยนต์นั่งที่ปล่อย CO2 มากกว่า 200 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษีในอัตรา 40% เป็นต้น
เขากล่าวว่า ในกรณีรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้า 100% ทำให้แทบไม่มีการปล่อยคาร์บอนออกมาเลย ดังนั้น โครงสร้างภาษีรถยนต์ที่กรมสรรพสามิตกำลังพิจารณาอยู่นั้น จะทำให้อัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า จะเป็นประเภทรถยนต์ที่มีอัตราภาษีที่ต่ำที่สุดในโครงสร้างภาษีรถยนต์ของกรมฯ
แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีตลาดผู้ใช้รถยนต์ขนาดใหญ่ แต่คู่แข่งของไทยเช่น อินโดนีเซียมีจุดแข็งที่สามารถดึงดูดการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า เพราะ มีแหล่งแร่ rare earth ที่เป็นส่วนสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า