‘ค่าระวาง-น้ำมัน’ ดันต้นทุนส่งออกพุ่ง 10%
ภาคส่งออกต้นทุนพุ่งหลังค่าระวางเรือแพง 5-10 เท่า คาดราคาน้ำมันขยับขึ้น 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ในไตรมาส 4 ชี้ปีหน้าสินค้าจำเป็นต้องรับราคาตามต้นทุน
ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุ สรท.มีความเป็นห่วงสถานการณ์ค่าระวางเรือและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนส่งออกที่คาดว่าจะสูงขึ้นเฉลี่ย 10% แล้วแต่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นไปถึงตรุษจีนปี 2565 ซึ่งปัจจุบันค่าระวางเรือได้ปรับเพิ่มขึ้นมา 5-10 เท่า ในเส้นทางไปยุโรปและสหรัฐ โดยคิดเป็นต้นทุนก่อนสถานการณ์โควิดประมาณ 10-15% ปัจจุบันขึ้นไป 20-30% ส่วนราคาน้ำมันดิบคาดว่าไตรมาส 4 จะปรับขึ้นไปประมาณ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล จากการเปิดประเทศของหลายประเทศ และใช้น้ำมันดิบในช่วงฤดูหนาวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นต้นทุนทำให้วัตถุดิบด้านปิโตรเคมีปรับราคาสูงขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์
“สถานการณ์ต้นทุนส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าระวางเรือ ซึ่งบางเส้นทางค่าระวางเรือเท่ากับราคาสินค้าที่ส่งออกไป รวมทั้งการแย่งชิงตู้คอนเทนเนอร์ ที่ไม่มีส่งออกเพียงพอแม้จะมีออเดอร์ส่งออกเข้ามาก็ตาม ทำให้ปีนี้การส่งออกไทยโตได้แค่ 12% ไม่ถึง 15% เพราะจะเกิดปัญหาการส่งมอบสินค้าล่าช้า ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไข ส่วนราคาพลังงานแม้ว่าจะกระทบยังไม่มากแต่ก็มีแนวโน้มปรับขึ้น และปีหน้าจะเป็นของจริง คือต้นทุนขึ้นราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้นแน่”
อ่านข่าว : ‘ค่าระวาง-น้ำมัน’ ดันต้นทุนส่งออกพุ่ง 10%
นอกจากนี้ สถานการณ์ค่าระวางเรือปรับขึ้นแต่เซอร์วิสแย่ลงเรื่อยๆ โดยการขนส่งฝั่งเอเชียไปสหรัฐใช้เวลา 73 วัน จากเดิม 43 วัน บางชิปเมนท์ใช้เวลาไปถึง 90 วัน คำสั่งซื้อกว่าจะส่งมอบได้อยู่ประมาณ 2-3 เดือนเป็นอย่างต่ำ
ส่วนข้อเสนอแนะของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย นอกจากขอให้รัฐเร่งฉีดวัคซีนให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ครอบคลุมโดยเร็วและขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่เริ่มเข้ามาตรการ Factory Quarantine (FQ) และชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม โดยขอให้เร่งแก้ไขปัญหาค่าระวางเรือในเส้นทางหลักให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ซึ่งสวนทางกับปริมาณคำสั่งซื้อต่างประเทศยังคงฟื้นตัวในระดับสูงต่อเนื่อง และคุณภาพการให้บริการของสายเรือ ในระยะสั้นผู้ประกอบการอาจไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าขนส่งไหวและจะกระทบต่อการส่งออกในภาพรวมของประเทศ
นอกจากนี้ ให้เร่งจัดหาแรงงานป้อนเข้าสู่ระบบรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และเร่งปรับลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ภาษีสินค้าเหล็ก เซมิคอนดักเตอร์ วัตถุดิบสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับนำเข้าผลิตเพื่อส่งออก