อุตฯ ทุ่ม 2,500 ล้านบาท ดันเอสเอ็มอี ยกระดับผลิตสู่ ออโตเมชั่น

อุตฯ ทุ่ม 2,500 ล้านบาท ดันเอสเอ็มอี ยกระดับผลิตสู่ ออโตเมชั่น

สุริยะ เร่งกระทรวงอุตฯ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท ยกระดับภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบออโตเมชั่น ตั้งเป้าไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียนภายในปี 2569

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ พร้อมขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกระดับรองรับการผลิตสมัยใหม่ โดยสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทาง BCG Model โดยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเสียตลอดทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของภาคอุตสาหกรรม   

นอกจากนี้ กระทรวงฯ เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินสินเชื่อจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐจำนวนกว่า 2,500 ล้านบาท วงเงิน 15 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อปี เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและทรานส์ฟอร์มเป็นระบบอัติโนมัติ (Automation)

โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติ (System Integrator : SI) และผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) คอยให้คำปรึกษาทางเทคนิคและเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่ผู้ประกอบการ โดยมีการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ของการลงทุน รวมทั้งจัดทำข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนอด้านการเงินสำหรับ SMEs เพื่อใช้ในการขอสินเชื่อจากกองทุนและจากธนาคารพาณิชย์

 

 

ทั้งนี้ เมื่อ SMEs ตัดสินใจลงทุน ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากอีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ นำมูลค่าการลงทุนไปขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 3 ปี ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นำเงินลงทุนในส่วนของเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 5 รอบบัญชี ตามมาตรการส่งเสริมของกระทรวงการคลัง และในส่วนของผู้ผลิตเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ (AMB) และผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติภายในประเทศ จะได้รับยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ สำหรับนำมาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามประกาศของกรมศุลกากรด้วย 

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้มีหารือร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) และสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) เพื่อยกระดับผู้ผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติและผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติ โดยจะมีการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม และทดสอบวัดระดับตามมาตรฐานสากล

ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับการสนับสนุนให้เข้ารับงานจากภาคอุตสาหกรรม โดยกระทรวงฯ มีแผนยกระดับขีดความสามารถด้านระบบอัตโนมัติ (Automation) ให้กับผู้ผลิตเครื่องจักร ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ และผู้ประกอบการ SI ทั่วประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) และผู้ประกอบการ SI รายใหญ่จากสมาคม TARA เป็นพี่เลี้ยง อุตฯ ทุ่ม 2,500 ล้านบาท ดันเอสเอ็มอี ยกระดับผลิตสู่ ออโตเมชั่น

 

 

 

ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) กล่าวเสริมว่า CoRE พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงฯ อย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Steering Committee) คณะกรรมการเครือข่ายเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภูมิภาค (Regional CoRE Committee) รวม 5 ภูมิภาค โดยมีภารกิจสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีและยกระดับบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ รับรองคุณสมบัติของผู้ประกอบการและ SI ที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมทั้ง ให้ความเห็นในเชิงวิชาการสำหรับโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น 

ด้าน ทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่าที่ผ่านมา เมื่อปี 2560 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve โดยมีเป้าหมายยกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียนภายในปี 2569 

โดยมีเป้าหมายให้ปี 2564 เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ SI ในประเทศจาก 200 รายเป็น 1,400 ราย ลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 30% และโรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 50%

ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในเป้าหมายระยะกลาง โดยปี 2563 มีการลงทุนในระบบอัตโนมัติ ประมาณ 120,000 ล้านบาท มีระดับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 25% และใช้ระบบอัตโนมัติภายในประเทศ ประมาณ 12% อย่างไรก็ตามคาดว่าภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนบรรลุตามเป้าหมายและแผนการดำเนินงาน (Roadmap) ที่ตั้งไว้