ถอดรหัสแบงค็อก แซนด์บ็อกซ์ ผนึกกำลังทุกภาคส่วนเร่งฟื้นศก.ไทย
หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มลดลง ถือเป็นสัญญาณบวก! นับถอยหลังเปิดประเทศภายใต้โครงการ “แบงค็อก แซนด์บ็อกซ์”ในฐานะเมืองหลวงของประเทศไทยนับเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ
อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า “กรุงเทพ แซนด์บ็อกซ์” เป็นเรื่องที่ทำยากกว่า “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ด้วยขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าภูเก็ต และ โลเคชั่นที่สามารถเดินทางเข้าออกได้หลายทางทำให้ยากต่อการควบคุม ต่างจาก ภูเก็ตที่มีสภาพเป็นเกาะ
ฉะนั้น แนวทางการทำ “กรุงเทพ แซนด์บ็อกซ์” อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไปบ้าง แต่สิ่งสำคัญยังคงเป็นเรื่องวัคซีนที่ต้องเร่งฉีดให้ได้ตามเป้าหมาย 70% ขึ้นไป รวมถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนไม่มีสะดุดระหว่างทาง
อิสระ ประเมินว่า กรณี กรุงเทพฯ อาจจะต้องใช้วิธี “บับเบิลแอนด์ซีล” ให้สถานประกอบกิจการทุกประเภทที่เปิดให้บริการเพื่อป้องกันและควบคุมโควิดเหมือนกับที่ใช้กับแคมป์ก่อสร้าง
“ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าต้องเตรียมบุคคกรให้พร้อมบริการ ด้วยการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม รวมทั้งระบบป้องกันตามมาตรฐานสาธารณสุขขึ้นสูงสุด”
อีกเรื่องสำคัญ คือ การสื่อสารกับชาวกรุงเทพฯ ให้มีความเข้าใจตรงกัน จะทำให้เกิดความร่วมมือที่ดีเหมือนอย่างภูเก็ต รองรับการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการควบคุมโรคไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดจากนักท่องเที่ยวสู่ประชาชน ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต้องไม่ได้รับเชื้อจากประชาชนด้วย นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะต้องระบุเส้นทางการเดินทางที่ชัดเจนเพื่อจำกัดการเดินทาง
จากชุดข้อมูลของคณะกรรมการวิชาการประเมินความพร้อมในการเปิดพื้นที่ระบุว่า กรุงเทพฯ มีความพร้อมมากกว่า 51.64% พิจารณาจากความก้าวหน้าในการได้รับวัคซีน และจะต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 70% ขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับวัคซีนถึง 80% ทั้งยังต้องมีการหารือถึงมาตรการและเงื่อนไขที่ชัดเจน จึงจะกำหนดเป้าหมายวันเปิดเมือง พร้อมวางไทม์ไลน์ให้ทุกฝ่ายได้เตรียมพร้อมที่สุดสำหรับการเปิดกรุงเทพ แซนด์บ็อกซ์
ธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การทำ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เป็น “ต้นแบบ” ของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอย่างมีหลักการ ซึ่งในแง่หลักการ ถือว่า ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเข้ามาแล้วปัญหาน้อย ระบบการติดตามตัวเป็นไปได้ด้วยดี นักท่องเที่ยวให้ความร่วมมือ แม้จะมีการติดเชื้อแต่ก็ไม่ได้มีปัญหารุนแรง ฉะนั้นถือว่า สอบผ่าน !
โมเดล ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เป็นการทดลองเปิดเมืองอย่างมีระบบ เพื่อเป็นแนวทางให้จังหวัดอื่น ๆ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญ คือ “วัคซีน” เข็ม 2 และ เข็ม 3 หากจะฟื้นการท่องเที่ยวให้ประสบความสำเร็จต้องเปิดแบบ “ฟรีเดย์” หมายความว่าต้องเปิดให้ทุกคนเดินทางไปมาในจังหวัด ตามแหล่งท่องเที่ยวและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สามารถกินดื่ม หรือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอกฮอล์ได้ในระดับและเวลาที่เหมาะสม ย้ำว่า หัวใจสำคัญของการทำแซนด์บ็อกซ์ คือ ต้องทำให้คนในพื้นที่เข้าใจและพร้อมให้ความร่วมมือ
ธนูศักดิ์ กล่าวว่า การเปิด “กรุงเทพ แซนด์บ็อกซ์” คนในกรุงเทพฯ ต้องร่วมมือร่วมใจกัน มีการวางแผนการเปิดอย่างเป็นระบบ รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 2 เข็ม 3 ให้เร็วที่สุด
วัคซีนเข็ม 3 น่าจะเป็นคำตอบของการเปิดเมือง! กระตุ้นการท่องเที่ยวให้ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การทำแซนด์บ็อกซ์เป็นการทดลอง “ไม่ได้” หมายความว่า เมื่อเปิดเมื่อแล้วจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากเหมือนในอดีต กรณีของภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ เริ่มเปิดเมืองในช่วงโลว์ซีซัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีจำนวนไม่มาก แต่สิ่งที่ได้จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็คือ จะทำอย่างไรให้ช่วงไฮซีซันพร้อม! นั่นหมายความว่า ต้องฉีดเข็ม 3 เพื่อสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างเป็นปกติสุข กรณีติดเชื้อก็รักษากันไปแต่ความรุนแรงไม่ถึงขั้นเสียชีวิต
“ภูเก็ตตอนนี้ควรนำหน้าไปอีกขั้นหนึ่งคือการฉีดวัคซีนเข็ม 3 อย่างช้าสุดกลางเดือน ต.ค. ต้องแล้วเสร็จ ก่อนเปิดฟรีเดย์ในเดือน พ.ย. หรือ ธ.ค. เพื่อให้คนในจังหวัดสามารถไปมาหาสู่กันอย่างปกติ แต่ยังใช้หลักการควบคุมเหมือนเดิมและเพิ่มระบบการติดตาม รายงานผล เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เข้าออก ไม่ว่าจะต่างชาติหรือคนไทย ไม่สับสนกับกติกาใหม่ ๆ”
ทุกอย่างควรมีวิธีคิดและออกแบบให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาร่วมวางแผนร่วมกัน สอดคล้องกับวิธีการของรัฐ และประชาสัมพันธ์สร้างความร่วมมือภาคประชาชนเพื่อขับเคลื่อนการเปิดประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ