เกษตร ทุ่ม 2 หมื่นล้านดันเกษตรอัจฉริยะ2ปี ดึงเกษตรกรพ้นความจน 20 %

เกษตร  ทุ่ม 2 หมื่นล้านดันเกษตรอัจฉริยะ2ปี ดึงเกษตรกรพ้นความจน 20 %

เกษตรฯทุ่ม 2 หมื่นล้าน ขับเคลื่อนแผนเกษตรอัจฉริยะ65-66 เน้น“ทำน้อยได้มาก”นำเทคโนโลยีสู่เกษตรแม่ยำ ตั้งเป้าสร้างมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น 3% พาเกษตรกรหลุดพ้นความจน 20%

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   เปิดเผยในการมอบนโยบายและเปิดตัวแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี พ.ศ. 2565 – 2566 แก่เกษตรจังหวัดทั่ว ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ได้กำหนดให้มีแผนแม่บทด้านการเกษตรและแผนย่อยเกษตรอัจฉริยะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร  ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร   มีเป้าหมายสำคัญให้เกิดการทำเกษตรแบบทำน้อยได้มาก

 

เกษตร  ทุ่ม 2 หมื่นล้านดันเกษตรอัจฉริยะ2ปี ดึงเกษตรกรพ้นความจน 20 %

                รวมทั้งเร่งพัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้มีความพร้อมทั้งด้านวิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐและเกษตรกร สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และช่วยเป็นครูผู้ฝึกหรือเทรนเนอร์ ให้แก่เกษตรกร โดยมุ่งเน้นทั้ง Smart Farmer , Young Smart Farmer  ผู้นำเกษตรกรของ ศพก. และแปลงใหญ่ มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในทุก ๆ จังหวัดของประเทศ และให้เข้าถึงทุกอำเภอภายใน 3 ปีให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ  ได้การจัดทำแผนปฏิบัติ ปี  2565 - 2566 โดยกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับผู้แทนของหน่วยงานภายนอกกว่า 200 คน ทั้งจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

                เป้าหมายแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะระยะโครงการ 2 ปี ภายใต้งบประมาณมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้พ้นกับดักความยากจน ลดจำนวนเกษตรกรที่อยู่ภายใต้ เส้นความยากจนที่มีรายได้ประมาณ 3,000 บาทต่อปี ลงปีละประมาณ 10%  หรือเฉลี่ย 2 ปีต้องลดความยากจนของเกษตรกร ลง 20% จากปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาผลผลิตภาคเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3% ผลักดันให้จีดีพีภาคเกษตรให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในจีดีพีของประเทศ เพื่อให้ภาคเกษตรไทย สามารถค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งขณะนี้ จีดีพีภาคเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 5.8% ของจีดีพีประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเร่งขับเคลื่อนภาคเกษตร ให้เติบโตได้  ภายใต้คอนเซ็ปทำน้อยได้มาก จะดำเนินการโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน ลดการสัมผัสใกล้ชิดกัน แต่ภาคเกษตรต้องเดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านอาหาร หลังจากการระบาดของโควิด-19 ภาคเกษตรแม้จะมีการเติบโตน้อย แต่น่าจะเป็นภาคเดียวที่ไม่ติดลบ ยังเดินหน้าสร้างความมั่นคงเรื่องอาหารได้  ดังนั้นงบประมาณที่จัดสรรมาจะนำไปใช้ทั้งเรื่องของการวิจัย การพัฒนาคน และยกระดับสินค้าการเกษตร