ROJNA-WHA ดาวเด่น หุ้นนิคม หวังโกยยอดขายที่ดินอีอีซี
“การลงทุนภาคเอกชน” เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 การลงทุนต่างๆ แทบหยุดชะงัก และไม่ใช่แค่เอกชนที่ชะลอลงทุน ภาครัฐเองก็เช่นกัน หลายโครงการถูกเลื่อนออกไป เพราะต้องให้ความสำคัญกับการยับยั้งโรคระบาดก่อน
ที่ผ่านมารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต้องการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาตั้งฐานการผลิต ตั้งโรงงานในประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศ ผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
การลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ทางด่วน ท่าเรือน้ำลึก รถไฟความเร็วสูง การพัฒนาสนามบิน ไปจนถึงระบบโทรคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน หวังผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค
โดยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซีคืบหน้าไปมาก โดยมีการเซ็นสัญญาร่วมทุนกับเอกชนไปแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ ไฮสปีดเทรน หรือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 คาดเซ็นสัญญาภายในเดือนนี้
อีอีซีถือว่าได้รับความสนใจไม่น้อยจากนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ที่เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้หลายบริษัทที่ตั้งโรงงานในจีนต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่ระบาดหนักทั่วโลก ทำให้แผนการลงทุนต้องชะลอออกไปก่อน
แต่ขณะนี้เมื่อโรคระบาดเริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศค่อยๆ ลดลง การฉีดวัคซีนเดินหน้าตามแผนไปพร้อมกับการเปิดประเทศ น่าจะทำให้บรรยากาศการลงทุนค่อยๆ กลับมาคึกคักขึ้น หลังในช่วงครึ่งปีแรกมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีแล้ว 232 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 126,640 ล้านบาท ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีการลงทุนจริงภายในปีนี้เท่าไหร่
ขณะที่ภาครัฐยังเดินหน้าเร่งส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ล่าสุด ครม. เห็นชอบให้จัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก 6 แห่ง เพื่อรองรับและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในช่วง 10 ปี (2564 -2573) มูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันอีอีซีมีพื้นที่รองรับการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและการค้า 15,836 ไร่ ซึ่งประเมินแล้วว่าจะรองรับการลงทุนได้เพียง 5 ปีเท่านั้น
โดย 6 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ แบ่งออกเป็น 5 นิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 698 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์, นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,501 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์
นิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 978 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 421 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ และดิจิทัล
นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,498 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ ซึ่งตั้งเป้าหมายการลงทุนในช่วง 10 ปี รวม 280,772 ล้านบาท
และศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง พื้นที่รวม 519 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการ 360 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 10 ปี จำนวน 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการปรับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) และเพิ่มพื้นที่อีก 18 ไร่ เป็น 585 ไร่
มติที่ออกมานี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งคนที่ได้รับประโยชน์ที่สุดน่าจะเป็นบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA เพราะกวาดพื้นที่ไปได้มากที่สุด 2,199 ไร่ ตามด้วยบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA 1,498 ไร่ เชื่อว่าทั้ง 2 กลุ่มมีที่ดินพร้อมขายทันที หากลูกค้าสนใจ
ขณะนี้กลุ่มนิคมฯ เริ่มกลับมาฉายแววสดใสอีกครั้ง จุดต่ำสุดน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว กำลังเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่ ไปพร้อมกับการเปิดประเทศ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
และแน่นอนว่าเมื่อขายที่ดินได้มากขึ้น มีการตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น การใช้น้ำใช้ไฟต้องเพิ่มตามไปด้วย กลายเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในพื้นที่