‘พีระพงศ์ จรูญเอก’ซีอีโอออริจิ้นจากดีเวลลอปเปอร์สู่ดิสรัปเตอร์
นักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง “พีระพงศ์ จรูญเอก“ สตาร์ทจากจุดเล็กขยับสู่แพลตฟอร์ม ”ออริจิ้น" ขนาดใหญ่ภายในระยะเวลา12ปีจากเงินลงทุนเริ่มต้น10ล้านบาทกลายเป็นบริษัทที่มียอดขาย 25,000 ล้านบาท!! ด้วยความมุ่งมั่นในการเสนอสิ่งที่แตกต่างจากดีเวลลอปเปอร์เปิดฉากดิสรัปเตอร์!
กระแสการดิสรัปเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าปกติจากวิกฤติโควิด-19 จะส่งผลให้เกิด “นิวนอร์มอล” ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่การพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ตลอดจน “วิธีคิด” รวมถึงกระบวนการในการดำเนินธุรกิจใหม่ ท่ามกลางตลาดที่ดีมานด์หดตัว ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง “ออริจิ้น” กลับสวนกระแส!! ทั้งในแง่ยอดขาย รวมถึงการแตกไลน์ธุรกิจใหม่เพื่อขับเคลื่อนสู่ความเป็น “ดิสรัปเตอร์”
ย้อนไปจุดเริ่มต้นของ “พีระพงศ์ จรูญเอก” ซีอีโอ ออริจิ้น จากวิศวกรโยธา ที่สะสมทักษะและประสบการณ์ในสายงานอสังหาริมทรัพย์และเติบโตจากเส้นทางมนุษย์เงินเดือน ก่อนนั่งเก้าอี้ซีอีโอ ในฐานะมือปืนรับจ้าง แต่นั่นดูเหมือนจะ “ไม่ใช่คำตอบ" ของชีวิตจนกระทั่งเขาตัดสินใจลาออก มาก่อตั้ง “ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” ในปี 2552 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
โดยช่วงแรกที่กระโดดเข้าเล่นในตลาดไม่นาน! เกิดวิกฤติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม การเมือง เศรษฐกิจโลก ฯลฯ แต่เขาสามารถมองหา “ช่องว่างตลาด" ในการแทรกตัวเข้าไปเป็นผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถขยายธุรกิจแบบเอ็กซ์โพเนนเชียลเคิร์ฟ จนกระทั่งออริจิ้นกลายเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรเบอร์ต้น ๆ ของไทย
ล่าสุด แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ถือเป็นความท้าทายที่สุดของทุกธุรกิจและอุตสาหกรรมในรอบหลาย 10 ปี แต่ยอดขายในปี 2563 ของออริจิ้นอยู่ที่ 25,774 ล้านบาท มีรายได้ 11,114 ล้านบาท และกำไร 2,662 ล้านบาท สวนกระแสตลาด!!
พีระพงศ์ ระบุว่า กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของออริจิ้นนั้นมาจากความสามารถในการ “ปรับตัว” หลาย ๆ ด้านพร้อมกัน ทั้งควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่จำเป็น และการ “เข้าถึง”ความต้องการของผู้บริโภค พัฒนาช่องทางและวิธีการใหม่ ๆ อาทิ โครงการ Everyone Can Sell ให้พนักงานกว่า 1,000 คน กลายเป็น Micro-Influencer ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงโครงการพร้อมอยู่ของออริจิ้น
อนาคตวงการอสังหาริมทรัพย์หลังโควิด ในมุมมองของพีระพงศ์ เชื่อว่า โควิดจะสร้างการอยู่อาศัยแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ “ดิจิทัลไลฟ์โซลูชั่น” ที่ตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมที่กลายเป็นทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสามารถทำธุรกิจได้ ซึ่งตอบโจทย์ คนรุ่นใหม่ไม่ว่าเป็นเจเนอเรชัน วาย ,ซี หรืออัลฟ่าอยากจะเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น
“สิ่งที่ทางดีเวลลอปเปอร์ ต้องเตรียมตัวคือการพัฒนาบ้าน คอนโดมิเนียมที่สามารถตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล ด้วยการทำพื้นที่ให้สามารถเป็นห้องขายสินค้า มีห้องไลฟ์สำหรับทำอีคอมเมิร์ซให้กับลูกค้า ยกตัวอย่าง คอนโดแบรนด์ออริจิ้น ปลั๊กแอนด์เพลย์ ที่อยู่แนวรถไฟฟ้าได้ดัดแปลงเรื่องโฮมออฟฟิศเข้าไปอยู่ในคอนโดชั้นล่างใช้ทำงาน ข้างบนใช้พักอาศัย ”
พีระพงศ์ แนะว่า ดีเวลลอปเปอร์ต้องคิดและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์ ดีมานด์ที่อยู่อาศัยยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าต้องพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป มิเช่นนั้นขายได้น้อยลง สิ่งที่ต้องทำคือต้องคิดไปข้างหน้าและดีไซน์ที่อยู่อาศัยแบบใหม่มาเป็นตัวครีเอทดีมานด์ เหมือนกับที่ สตีฟ จ็อบส์ พัฒนาไอโฟน สร้างดีมานด์ใหม่ด้วยนวัตกรรรมที่แตกต่างเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในโลกวิถีใหม่!!
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องเผชิญต่อจากนี้ไปหลังจากผ่านบททดสอบใหญ่ในเรื่องวิกฤติโรคระบาดจากโควิด-19 พีระพงศ์ ย้ำว่า “ยังไม่รู้หรอกไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร แต่ความท้าทายจากวิกฤติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องผู้ประกอบการต้องเตรียมการรับมือ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการทรานส์ฟอร์มจากธุรกิจอสังหาฯ ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่เพื่อขยายแลนด์สเคปธุรกิจของออริจิ้นให้กว้างขึ้นในอนาคต!! ซึ่งครอบคลุมทุกมิติในการใช้ชีวิตของทุกเจนเนอเรชั่น เพื่อตอบโจทย์วิถิชีวิตใหม่ของผู้คนยุค เน็กซ์ นอร์มอล พร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนองค์กรสู่ธุรกิจอนาคต”
เริ่มจากธุรกิจ “โลจิสติกส์ ” ด้วยการจับมือกับเจดับเบิ้ลยูดี ที่เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารคลังสินค้าแบบบิวท์ ทู สูท ตามความต้องการของลูกค้าหรือการร่วมกับกันกุล เอ็นเนอร์ยีผลิตโซล่าร์รูฟ หรือการทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและความงามภายใต้แบรนด์ “ออริจิ้น เฮลท์แคร์” เป็นต้น
จากประสบการณ์ “พีระพงศ์” พยายามลดความเสี่ยงด้วยการเพิ่มขาหยั่งในธุรกิจใหม่! ภายใต้กลยุทธ์การกระจายธุรกิจ (Diversification) มากขึ้น เพื่อสร้างขุมทรัพย์ใหม่ที่ล้วนแล้วแต่เป็น “เมกะเทรนด์” ที่โดดเด่นทั้งนั้น ครอบคลุมไปถึงด้านการตลาด และด้านภาพลักษณ์องค์กร ในการก้าวสู่ เน็กซ์ เลเวล ในด้านต่าง ๆ ตามที่ประกาศแผนไว้เมื่อช่วงต้นปี อาทิ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Company : AMC) ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรม-ที่อยู่อาศัย พลังงานสะอาด โลจิสติกส์ เฮลท์แคร์
“ประสบการณ์สอนให้เราไม่ถลำลึกหรือผูกความเสี่ยงไว้กับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเพียงอย่างเดียว จึงพยายามที่จะกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นมาร์เก็ตเซ็กเมนต์เตชั่น หรือการทำธุรกิจใหม่ต่าง ๆ หลายธุรกิจก้าวข้ามอสังหาริมทรัพย์สู่ Beyond Property เพื่อสร้างนิวเอสเคิร์ฟใหม่ หากมีวิกฤติที่หนักกว่าโควิดเกิดขึ้น เราจะได้มีภูมิต้านทานมากกว่าคนอื่น และเจ็บน้อยกว่า”
ออริจิ้น วางแนวคิดแบบ “เน็กซ์ นอร์มอล” เพื่อให้องค์กรโตไปแบบ “เน็กซ์ เลเวล” โดยนำแนวคิดในการปรับตัวรับมือวิกฤติโควิด เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันข้างหน้า ที่เน้น “ความยืดหยุ่น” ในการทำงานท่ามกลางความไม่แน่นอน รวมทั้งมีการ "ซินเนอร์ยี” กับพาร์ทเนอร์ธุรกิจ หรือ อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตดี ทั้งแนวกว้างและแนวลึก ขณะเดียวกันในส่วนของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะมีบ้านจัดสรร มีคอนโดมิเนียมครอบคลุมทุกเซ็กเมนท์เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลาย
“ผมเชื่อว่าซีอีโอทุกองค์กรต้องมีการปรับวิชั่นหรือวิสัยทัศน์ของบริษัทใหม่ หลังจากที่เผชิญวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้ เพื่อให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปในส่วนออริจิ้นก็เช่นกัน แต่ที่สำคัญที่ดำเนินการมาตลอดก็คือการปรับตัวทันทีเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติอย่างรวดเร็วไม่ต้องรอให้วิกฤติจบถึงจะปรับตัว จึงเป็นเหตุผลให้ออริจิ้นโตสวนกระแสตลาด”
ปัจจุบัน ออริจิ้น พยายามนำ เสนอ “โซลูชั่น” ให้กับลูกค้าที่มีอยู่กว่าแสนรายนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการนำเสนอสินค้าและบริการให้กับลูกค้าได้ทุกช่วงชีวิตทั้งไลฟ์สเตท (เมนต์) และไลฟสไตล์ ตั้งแต่เริ่มทำงาน เข้าสู่ช่วงวัยกลางคนและสูงวัย รวมทั้งการลงทุนร่วมสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เข้ามาเสริมให้ออริจิ้นแข็งแกร่งขึ้น รวมถึงเรื่องของ “ดิจิทัลแอสเสท” เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ และกลายเป็นแต้มต่อให้ “ออริจิ้น” สามารถสร้างความผูกพันกับลูกค้า 360 องศา เพื่อวิเคราะห์โอกาสการขายที่เป็นไปได้กับลูกค้าแต่ละราย เพื่อการขายเพิ่ม ขายซ้ำ และสุดท้ายลูกค้าก็มีความสุข พึงพอใจในบริการของบริษัทและกลายเป็นลูกค้าชั่วชีวิต