ตะวันขึ้น !! “3หุ้นซื้อหนี้” เสน่ห์ดึงดูด “รายใหญ่”
“วิกฤติโควิด-19” ทำเศรษฐกิจชะลอตัว ผลักดัน “เอ็นพีแอล” ทะลัก...!! ตัวช่วยสำคัญลด NPL แบงก์ คงหนีไม่พ้นธุรกิจ AMC ที่กำลังเป็น “ขุมทรัพย์” ของ “3หุ้นซื้อหนี้” คว้าโอกาสเติบโตสูงสุด จนกลายเป็นเสน่ห์ร้อนแรง ออร่าโดนใจเหล่า “นักลงทุนไซด์บิ๊ก”
“เอ็นพีแอล” ทะลัก...!! กำลังส่งสัญญาณเชิงบวกให้ “ธุรกิจบริหารหนี้” (AMC) หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ (โควิด-19) ทำเศรษฐกิจชะลอตัว
โดยปัจจุบันตัวเลข “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) คงค้างทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2563 มีอยู่ราว 5 แสนล้านบาท และแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัท AMC หลัก ๆ ที่มีอยู่ในตลาดก็ไม่สามารถซื้อหนี้ได้ทั้งหมด และเกินกว่า “กำลังซื้อ” ของผู้ซื้อรายใหญ่ 3 อันดับแรกรวมกัน สอดคล้องทิศทางปริมาณหนี้เสียในตลาดอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง 2 ปี (2564-2565) ดังนั้น ในแง่การแข่งขันจึงไม่น่าห่วงมากนัก รวมทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือค่อนข้างดี อาจจะไม่เห็นเอ็นพีแอลออกมาในตลาดเยอะ
ดังนั้น ธุรกิจบริหารหนี้ !! คือหนึ่งในธุรกิจ “ดาวรุ่ง” ที่กำลังสร้างรอยยิ้มในวิกฤติโควิด-19 อีกครั้ง... สอดคล้องผลประกอบการเติบโตทำ “สถิติสูงสุด” (New High)
สะท้อนผ่านผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจบริหารหนี้ (AMC) ที่จดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) “3 หุ้นซื้อหนี้” อย่าง บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM ผู้ถือหุ้นใหญ่ “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” สัดส่วนถือหุ้น 45.79% บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ของ “ตระกูลสุขุมวิทยา” โดยถือหุ้นผ่าน บมจ. เจ มาร์ท หรือ JMART สัดส่วนถือหุ้น 53.50% และ บมจ. ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ของ “ตระกูลยศะสินธุ์” สัดส่วนถือหุ้น 34.82% (ตัวเลข ณ ปิดสมุดทะเบียน 19 ก.ย.2564)
โดยพบว่า ตัวเลขผลประกอบการย้อนหลังปี 2562-งวด 6 เดือนแรกปี 2564 ของ 3 หุ้นซื้อหนี้ มีแนวโน้มทำสถิติสูงสุด ซึ่ง BAM มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,549.30 ล้านบาท 1,840.62 ล้านบาท และ 1,037.27 ล้านบาท JMT มีกำไรสุทธิ 681.36 ล้านบาท 1,047.04 ล้านบาท และ 571.63 ล้านบาท และ CHAYO มีกำไรสุทธิ 111.43 ล้านบาท 155.35 ล้านบาท และ 99.53 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่ “ความมั่งคั่ง” (Wealth) ของธุรกิจในรูปของ “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” (มาร์เก็ตแคป) ของ หุ้น BAM ย้อนหลังปี 2562-งวด 6 เดือนแรกปี 2564 อยู่ที่ 54,571.50 ล้านบาท 70,781.73 ล้านบาท และ 59,792.78 ล้านบาท หุ้น JMT อยู่ที่ 17,759.82 ล้านบาท 35,139.29 ล้านบาท และ 50,787.98 ล้านบาท และ หุ้น CHAYO อยู่ที่ 3,402.00 ล้านบาท 5,785.90 ล้านบาท และ 11,351.01 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้วยความโดดเด่นดังกล่าว !! อาจจะหนึ่งใน “แรงดึงดูด” ของเหล่า “นักลงทุนไซด์บิ๊ก” หากอิงตามสัดส่วนการถือหุ้นของ 3 หุ้นบริหารหนี้ ที่บริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยพบว่า หุ้น BAM พบรายชื่อ “นเรศ งามอภิชน” ถือหุ้น 31,300,000 หุ้น คิดเป็น 0.97%
หุ้น JMT พบรายชื่อ “ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา” ถือหุ้น 34,675,310 หุ้น คิดเป็น 3.11% “หมอพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี” ถือหุ้น 25,000,000 หุ้น คิดเป็น 2.24% “พิชญ์สินี เสรีวิวัฒนา” ถือหุ้น 12,226,900 หุ้น คิดเป็น 1.10%
หุ้น CHAYO พบรายชื่อ “ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา” เข้ามาถือหุ้น 36,984,576 หุ้น คิดเป็น 3.88% “หมอพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี” ถือหุ้น 32,938,386 หุ้น คิดเป็น 3.45% “สุระ คณิตทวีกุล” ถือหุ้น 22,693,153 หุ้น คิดเป็น 2.38% “วราณี เสรีวิวัฒนา” ถือหุ้น 16,800,533 หุ้น คิดเป็น 1.76%
“สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรายใหญ่เมืองไทย เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า คาดการณ์แนวโน้มในช่วง 2 ปี (2564-2565) ปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพจะถูกนำออกมาขายจำนวนมาก จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้าไม่มีความสามารถผ่อนชำระคืนหนี้ได้ โดยคาดจะเห็นตัวเลข NPL ระดับสูงในปีหน้า หากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง และไม่มีการช่วยเหลือต่อ
ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทจึงเตรียมความพร้อมรองรับ “โอกาสโต” ในแง่ของสรรพกำลังด้าน “เงินทุน” สอดรับแผน “การลงทุน” ปี 2564 ใน ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่ตั้งเป้าวงเงินซื้อหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ถือเป็นเงินลงทุนที่ทำ “สถิติสูงสุด” (All Time High) ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทซื้อหนี้ไปแล้ว 1,833 ล้านบาท ล่าสุดพอร์ตบริหารหนี้คงค้างรวม 213,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปีก่อนอยู่ที่ 207,051 ล้านบาท แต่หากย้อนดู เดิมบริษัทเคยตั้งวงเงินการซื้อหนี้ระดับ 1,000 ล้านบาท ก่อนขยับมา 3,500 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ก็ถือว่าสูงสุดที่เคยทำได้ แต่ปีนี้ตั้งวงเงินไว้สูงกว่าเดิมมาก
“สุขสันต์ ยศะสินธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO เปิดเผยว่าแผนการดำเนินงานปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 25% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยในปีนี้ตั้งเป้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่มเติมอีก 12,000–15,000 ล้านบาท ด้วยการตั้งงบลงทุนเพื่อซื้อหนี้ไว้ประมาณ 2,500 ล้านบาท ล่าสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 บริษัทมีพอร์ตหนี้ที่บริหารทั้งสิ้นประมาณ 65,000 ล้านบาท
โดยเชื่อว่าหนี้ด้อยคุณภาพในระบบยังมีอยู่สูงเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีนัก ดังนั้นสถาบันการเงินจะทยอยขายหนี้ด้อยคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาส 4 ซึ่งเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของธุรกิจ สถาบันการเงินจะนำ NPL ออกมาขาย เพื่อการบริหารจัดการตัวเลข NPL ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
“รฐนนท์ ฟูเกียรติ” ผู้จัดการกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM เปิดเผยว่า คงเป้าหมายในการซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และ สินทรัพย์รอการขาย (NPA) ที่ 9,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร 3-4 ราย ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยปัจจุบันบริษัทมีพอร์ต NPL อยู่ที่ 190,000 ล้านบาท และ NPA 60,000 กว่าล้านบาท
โดยในครึ่งปีหลัง มองว่า ปริมาณ NPL ที่สถาบันการเงินจะนำออกมาขายนั้นยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีอยู่แต่เริ่มชะลอลง โดยคาดว่าสถานการณ์ NPL จะกลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด-19 อีกครั้งในช่วงปีหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างคงขึ้นอยู่กับผลกระทบหลังสิ้นสุดมาตรการของภาครัฐ
สำหรับแนวโน้มผลเรียกเก็บในไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทคาดว่าจะมีผลเรียกเก็บอยู่ที่ 4,240 ล้านบาท โดยจะเป็น NPL 2,342 ล้านบาท และ NPA 1,897 ล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะได้เป้าหมายที่วางไว้แน่นอน ขณะที่ ไตรมาส 4 ปี 2564 บริษัทตั้งเป้าผลเรียกเก็บอยู่ที่ 6,043 ล้านบาท แบ่งเป็น NPL 3,498 ล้านบาท และ NPA 2,545 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ไตรมาส 4/64 จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายในการเรียกเก็บหนี้ เนื่องจากตั้งเป้าไว้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยบริษัทหวังว่า กลยุทธ์ที่บริษัทได้วางไว้ตั้งแต่ปลายปีก่อน จะส่งผลให้ไตรมาส 4/64 สามารถมีผลเรียกเก็บได้ตามเป้าหมาย
ด้าน NPA ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะเน้นเสนอขายทรัพย์เฉพาะกลุ่ม เน้นนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนรายใหญ่ รวมถึงพัฒนารูปแบบการจัดงานประมูลทรัพย์ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายทรัพย์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าและนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งบริษัทจะพิจารณาคัดเลือกทรัพย์ออกประมูลเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 นี้ ขณะเดียวกันในปี 2565 บริษัทจะนำแพลตฟอร์มประมูลออนไลน์ของบริษัทมาใช้เอง เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าไปสำรวจทรัพย์ได้มากและง่ายขึ้น
@หน้าใหม่ รุก ”ธุรกิจทวงหนี้-บริหารสินทรัพย์”
ขณะที่ บมจ. อาร์เอส หรือ RS เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทเชฎฐ์เอเชีย (Chase) จำนวน 35% มูลค่า 920 ล้านบาท ซึ่งดำเนินธุรกิจทวงถามหนี้ บริหารสินทรัพย์ และรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมถึงให้บริการสินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับดูแลของ ธปท. เหตุผลที่เข้าไปลงทุนเนื่องจากบริษัทมองศักยภาพการเติบโตและโอกาสทางธุรกิจบริหารหนี้และธุรกิจอื่น ๆ ที่จะมาเชื่อมโยงกับอีโคซิสเต็มของอาร์เอสได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเอามาสนับสนุนเงินผ่อนให้กับการขายสินค้าอีคอมเมิร์ซของอาร์เอส
โดยภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีอัตราเติบโตต่อเนื่องทุกปีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นกว่า 9% ต่อปี ดังนั้น ซัพพลายของธุรกิจหรือหนี้เสียน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจรับจ้างทวงหนี้และบริหารหนี้เสียจะมีกำไร ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ถูกจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีต้นทุนน้อยลง
โดยปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทเชฎฐ์เอเชียมีรายได้รวม 709 ล้านบาท กำไรสุทธิ 180 ล้านบาท การร่วมมือกับอาร์เอสจะทำให้บริษัทมีโอกาสเติบโตก้าวกระโดด เพราะเป็นธุรกิจเงินต่อเงิน ซึ่งเม็ดเงินก้อนแรกก็หนุนให้บริษัทเชฎฐ์เอเชียเติบโตได้ทันที ขณะเดียวกันทำให้เครดิตการกู้ยืมเงินจากแบงก์ดีขึ้นด้วย
@โบรกฯ มอง การปรับโมเดลธุรกิจแบงก์จะไม่กระทบ
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า การปรับโมเดลธุรกิจของสถาบันการเงินจะไม่กระทบต่อธุรกิจบริหารหนี้ฯ มองว่าตลาดหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) ไม่ใช่เป้าหมายหลัก โดยยังเร็วเกินไปที่จะกังวลสำหรับธุรกิจบริหารหนี้ฯ ซึ่งมองว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมฯ จะไม่ถูกเปลี่ยน
เนื่องจาก i) ตลาด NPLs (Bad loans) มีสัดส่วนไม่ถึง 4% ของสินเชื่อทั้งระบบการเงิน 16.7 ล้านล้านบาท เราเชื่อว่าการตื่นตัวของธนาคารจะเป็นการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อ (Good loans) จากพอร์ตปัจจุบันที่ราว 2-3 ล้านล้านบาท
และการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเข้าถึงลูกค้าใหม่ที่อยู่นอกระบบ (Unbanks) ii) การแยกบริษัทบริหารสินทรัพย์ (X AMC) เป็นแนวคิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริหาร NPL ในเครือมากกว่าจัดตั้งประมูลซื้อหนี้เสียจากรายอื่น-เข้าเจรจาไกล่เกลี่ย-จัดเก็บหนี้ฯ ซึ่งเป็นลักษณะธุรกิจที่ต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะรูปแบบการติดตามหนี้ด้วยวัฒนธรรมที่ต้องเปลี่ยนไป