ตลท.ผุด TDX ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จ่อให้บริการเร็วๆ นี้

ตลท.ผุด TDX ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จ่อให้บริการเร็วๆ นี้

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ถูกดิสรัปอย่างมากในโลกยุคปัจจุบัน ทั้งถูกดิสรัปจากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น รวมถึงกระแสการลงทุนแบบใหม่ที่เข้ามา เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่สามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง

"ภากร ปีตธวัชชัย" กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ต่อแผนการรับมือความท้าทายดังกล่าว ว่า ตลาดทุนในอนาคตตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มเดิม ได้แก่ นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนบุคคล นักลงทุนต่างประเทศ ที่เป็นฐานการลงทุนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน และนักลงทุนคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีหลายโจทย์สำคัญที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ การเข้ามาลงทุนจะต้องทำได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว ผลิตภัณฑ์ในการลงทุนที่มีความหลากหลาย รวมถึงจะต้องสามารถซื้อขายได้ตามจำนวนที่ต้องการ(ตามวงเงินที่ต้องการลงทุน) เช่น การซื้อหุ้นต่างประเทศ หรือกระทั่งการซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ต้องสามารถซื้อขายตามจำนวนเงินที่ผู้ลงทุนต้องการ

สำหรับการพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนดังกล่าว เช่น ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) ที่อิงกับสินทรัพย์ต่างๆ ในลักษณะการซื้อขายเศษส่วนของหุ้น (Fractional Shares) ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ในราคาที่ถูกลง เช่น DR อ้างอิงหุ้นแอ๊ปเปิ้ล สามารถซื้อขายที่ราคา 10 20 หรือ 50 บาท ต่อหุ้นได้ เป็นต้น เบื้องต้นจะออก DR อ้างอิงหุ้นต่างประเทศก่อน และในระยะถัดไปจะนำหุ้นไทยที่มีมูลค่าสูงมาอ้างอิง

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไรให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ 24 ชั่วโมง ในสินทรัพย์บางประเภทเช่น สินทรัพย์ที่อิงกับต่างประเทศ (Global Asset) ที่ควรซื้อขายได้ในเวลากลางคืน เพราะเป็นช่วงกลางวันที่ตลาดหุ้นต่างประเทศเปิดทำการ  ซึ่งช่วงแรกอาจจะไม่ได้เปิดให้ซื้อขาย 24 ชั่วโมง แต่จะเป็นลักษณะการขยายเวลาที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ก็ได้มีการขยายเวลาการซื้อขายในช่วงกลางคืนแล้ว

ภากร กล่าวอีกว่า ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของตลาดทุนไทยในช่วงที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่ปัจจุบันยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังมีแพลตฟอร์มการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ เกิดขึ้นมาขนานกับ Ecosystem ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องเดินหน้าพัฒนาตลาดทุนในรูปแบบใหม่ เพื่อให้บริการนักลงทุนได้ดีมากยิ่งขึ้น

ในอนาคต ตลาดหลักทรัพย์ตั้งเป้าหมายเข้ามาเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเชื่อมต่อการให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต ซึ่งประกอบด้วยการออกและเสนอขายโทเคน (Token Issuing) การซื้อขายและการทำรายการ (Trading and Clearing) กระเป๋าเงิน (Wallet) และการให้บริการนักลงทุนและผู้ออกสินทรัพย์ (Investor and Issuer Services) ได้อย่างครบถ้วน

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนจัดตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange: TDX) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคาดว่าจะออกมาให้บริการได้ภายในเร็วๆ นี้ โดย TDX ถูกออกแบบมาเป็นระบบเปิด เพื่อให้เกิดการต่อเชื่อมได้มากที่สุด

อย่างไรก็ดี TDX ไม่ได้มีไว้ซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แต่มีไว้เพื่อซื้อขายสินทรัพย์ที่เป็นโทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) รวมถึงตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมต่อการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่นเดียวกับโปรแกรม Settrade Streaming ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปัจจุบัน

“เรามองว่าในอนาคตจะมีโลกเก่า กล่าวคือ ตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นศูนย์กลางซื้อขายหุ้นปัจจุบัน และโลกใหม่ ซึ่งก็คือการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์รูปแบบใหม่ TDX จะเกิดขึ้นขนานกัน แม้ปัจจุบันยังเห็นภาพไม่ชัดเจนว่าอนาคตตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใด แต่เชื่อว่าทั้ง 2 ตลาดจะเกิดขึ้นขนาดกันไปสักช่วงหนึ่ง จนถึงวันหนึ่งที่เราเห็นว่าตลาดใดตลาดหนึ่งดีกว่าอีกอันหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด วันนั้นนักลงทุนจะวิ่งเข้าตลาดนั้นตลาดเดียว แต่คิดว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายปี”

สถานการณ์โควิด-19 นั้นมีผลกระทบต่อตลาดทุนอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบต่อวิธีการทำงานของบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุน แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะมีการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลมาโดยตลอด ทั้งการเปิดบัญชี การประเมินความเสี่ยงนักลงทุน (Suitability Test) การยืนยันตัวตนผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ฯลฯ ที่สามารถให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้ทั้งหมด

ในส่วนของบริษัทจดทะเบียน พบว่ามีการปรับตัวค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านการเงินผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการออกหุ้นเพิ่มทุน (Secondary Offering)

ท่ามกลางโควิด-19 พบว่า ตลาดทุนไทยมีผู้เข้ามาลงทุนมากขึ้น สะท้อนผ่านจำนวนนักลงทุนใหม่ที่เข้ามาเปิดบัญชี เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากราว 7-8 แสนรายในปี 2563 มาอยู่ที่ราว 2 ล้านราย ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน และนักลงทุนมีการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น จากเฉลี่ย 7 หมื่นล้านบาทต่อวันในปี 2563 มาอยู่เฉลี่ย 9 หมื่นล้านบาทต่อวันในปีนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีความกว้างและมีขนาดใหญ่ขึ้น กลายเป็นเครื่องมือหนุนเศรษฐกิจและธุรกิจให้เติบโต

แนวโน้มอนาคตเชื่อว่าจะมีการเปิดบัญชีลงทุนของนักลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่องเพราะ ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำนักลงทุนยังแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงต่อเนื่อง