“ปตท.”ปรับทัพค่าการตลาด รับมือราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวสูง

“ปตท.”ปรับทัพค่าการตลาด รับมือราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวสูง

หลังโควิด-19 คลี่คลายในหลายประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาคึกคัก เมื่อมีกิจกรรมก็ต้องมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานส่งผลทันทีต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ที่มีราคาลดต่ำจากเหตุผลเดียวกันคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดหายจากโควิด-19 

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการประชุมองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) ยังคงมีมติคงกำลังการผลิตอยู่ที่ 4000,000 บาร์เรลต่อวันสำหรับเดือน พ.ย.2564 ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในช่วงสิ้นปี 2564 ยังคงมีความต้องการใช้งานเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีข้อดีที่การประชุมโอเปกจะประชุมกันบ่อยขึ้นทุกเดือน ซึ่ง ปตท. เองก็จะติดตามอย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าที่จะชุดจะได้ข้อสรุปในทิศทางที่ดี

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานได้มีมาตรการระยะสั้น เพื่อดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ โดยออกเป็นมาตรการในการช่วยลดราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทและให้เป็นราคาเดียวทั้งประเทศ โดยประกาศลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซลบี10และบี7จากเฉลี่ย1.80บาทต่อลิตร เหลือ1.40บาท มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 5–31ต.ค. 2564ซึ่งปัจจุบันถูกกว่า1.80บาทต่อลิตร และลดการจัดเก็บเงิน บี7เข้ากองทุนจาก1.00บาทต่อลิตร เหลือ 0.01บาทต่อลิตร พร้อมทั้งปรับลดการผสมไบโอดีเซล จากบี10และบี7เหลือบี6โดยมีผลระหว่างวันที่ 11–31ต.ค. 2564

 

ในส่วนของปตท. ได้ช่วยเหลือในด้านของการลดการเก็บค่าการตลาดลง ซึ่งปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับการปรับขึ้นของราคาขายที่หน้าสถานีบริการน้ำมัน แม้ราคาในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยมาตรการดังกล่าวที่เป็นมาตรการระยะสั้นถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564 ซึ่งหากจะมีการต่อมาตรการก็ต้องมาติดตามราคาน้ำมันอีกครั้ง เนื่องจากราคาน้ำมันในช่วงนี้มีทั้งขึ้นและลงตลอดเวลา ยืนยันว่า ณ ตอนนี้ ปตท.จะยังไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมันอย่างแน่นอน

“ปตท.”ปรับทัพค่าการตลาด รับมือราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวสูง ด้านกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า ค่าการตลาดปัจจุบันที่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เก็บอยู่ในช่วงเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าต่ำที่สุดในตลาดแล้ว ซึ่ง ปตท. เองก็ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปช่วยเหลือเรื่องที่เป็นวิกฤติ เพื่อไม่ให้โออาร์ได้รับผลกระทบ พยายามดูแลให้บริหารจัดการไม่กระทบให้โออาร์อยู่รอด ยกตัวอย่างประเทศจีนเมื่อพลังงานไม่พอก็ต้องกลับมาใช้ถ่ายหิน ถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องกักตุน เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานความร้อนให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ค่าการตลาดที่รับตอนนี้ต้องยอมรับว่าน้อยมาก เพราะเก็บเพื่อบริหารจัดการให้บริษัทอยู่รอดได้เท่านั้น ขณะที่ภาพรวมการใช้น้ำมันของไทยอยู่แค่ 1% ของทั้งโลก ส่วน 99% เป็นประเทศใหญ่ๆ ที่ใช้ ภาพรวมราคาน้ำมันช่วงนี้คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยาวไปถึงสิ้นปี2564 เนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ในโลกถือว่าน่าเป็นห่วง จะเห็นได้ว่าระบาดของโควิด-19 ช่วงแรกราคาน้ำมับลงมาถึง 20-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เห็นความต่างที่ขึ้นมาถึง 3 เท่า ดังนั้น อาจจะต้องรับผลกระทบของความผันผวนไปอีกสักระยะ ซึ่งก็ต้องรอว่าจะมีการผลิตจากส่วนไหนเข้ามาช่วยหรือไม่ อาทิ การผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (เชลออยล์) ในสหรัฐ ที่อาจจะเพิ่มขึ้นมาในช่วงที่ความต้องการสูง เพื่อมาช่วยผ่อนคลายให้ราคาน้ำมันในโลกไม่ตึงเกินไป มองว่าหมดหน้าหนาวสถานการณ์น่าจะกลับมาดีขึ้น

“การผลิตของเชลออยล์ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะการเก็บภาษีด้านการปล่อยคาร์บอนในสหรัฐ ที่ผู้ผลิตอาจมองว่าไม่คุ้มทุน และไม่จูงใจที่จะดำเนินการผลิตในช่วงนี้ รัฐบาลได้ได้ประกาศนโยบายให้เรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ต้องแบ่งรับแบ่งสู่ ไม่พร้อมมากนัก แต่นโยบายรัฐบาลก็อยากให้มีการตั้งเป้าคาร์บอนเป็นศูนย์ ทุกคนต้องช่วยกัน ต้องดูความพร้อมประเทศด้วย เราอาจไม่พร้อมมากนัก น่าจะเป็นปัจจัยผลักให้เราเป็นกรีนมากขึ้น”

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ค่าการตลาดที่เรียกเก็บในปัจจุบันเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 ของดีเซลอยู่ที่ 0.3926 บาทต่อลิตร ขณะที่ก่อนหน้าจะมีมติประชุม กบง. ออกมา (ก่อนวันที่5 ต.ค. 64) ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลเรียกเก็บอยู่ที่ 1 บาทกว่าต่อลิตร ส่งผลให้ปตท. ต้องเข้ามาแบกรับค่าการตลาดที่ลดลงเกือบ 1 บาทต่อลิตร

ราคาน้ำมันผลักดันเงินเฟ้อโตต่อเนื่อง

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้น 1.68%  (YoY) เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากที่ลดลง0.02% ในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค (ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา) 

ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูงกว่าปีก่อนอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันมีสัดส่วนน้ำหนักการคำนวนเงินเฟ้อที่ 8.84% และในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 32.44% เป็นการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนส.ค.ที่ผ่านมาที่ 28.82% 

อย่างไรก็ตาม ด้านราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าปีก่อน สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตและความต้องการในการบริโภค

 ทั้งนี้ ในเดือนก.ย. 2564 กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับสมมุติฐานสำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์

เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 1.0 ± 0.2 % หรืออยู่ในช่วง0.8 – 1.2% 

โดยแนวโน้มราคาน้ำมันยังอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราเพิ่มที่น้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา, แนวโน้มสถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลาย และ แนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง