“พีทีจี”ดึงนวัตกรรม-บิ๊กดาต้า วางฐานปูทางธุรกิจ “นอนออยล์”
“พีทีจี” รับ ราคาน้ำมันผันผวน เทรนด์พลังงานมีการเปลี่ยนไป ล่าสุดเดินหน้ากลยุทธ์ธุรกิจ ดึง "นวัตกรรม-บิ๊กดาต้า" ปรับตัวครั้งใหญ่ สู่ธุรกิจ "นอนออล์"
ราคาน้ำมันที่กำลังผันผวนขณะนี้กำลังเป็นความท้าทายของหลายธุรกิจไม่เว้นแม้แต่ “ผู้ค้าน้ำมัน” เองที่ควรจะได้ประโยชน์จากภาวะราคาน้ำมันขาขึ้นแต่ผลกำไรที่ได้เมื่อเทียบกับความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจจากภาวะราคาน้ำมันผันผวนและเทรนด์พลังงานที่กำลังเปลี่ยนไป เป็นปัจจัยผลักดันให้ “พีทีจี เอ็นเนอยี” เพลเยอร์ธุรกิจน้ำมันต้องปรับตัวครั้งใหญ่สู่ธุรกิจนอนออล์ที่ดึง "นวัตกรรมและบิ๊กดาต้า" มาใช้อย่างน่าจับตามอง
พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมพีทีจีในปี 2564 เติบโตเล็กน้อย มีส่วนแบ่งตลาดภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 4.2% ยอดขายโต 8.4% สวนทางกับภาพรวมทั้งระบบที่ติดลบ 0.9% ทั้งนี้ ปัจจัยที่เกื้อหนุนให้พีทีจียังคงเติบโตมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1. สมาชิก Max Card มีสมาชิกมากกว่า 16.3 ล้านสมาชิก และจะมี 17 ล้านสมาชิกในปี2564 และอีก 5 ปีจะมีมากกว่า 30 ล้านสมาชิก
2. การกระจายสาขาทั่วประเทศ ปัจจุบันมีสาขารวมกว่า 2,200 สาขา แต่จากสถานการณ์โควิด-19 พบว่า เมื่อเกิดวิกฤติ สาขาของพีทีทีมีเพียง 8% เท่านั้นที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นที่ได้รับผลกระทบราว 40%
อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2569 การที่ บริษัทฯ มียอดบัตรสมาชิก Max Card ถึง 30 ล้านสมาชิก และปรับไปอยู่บนฐานเดียวกับ Max World เพื่อให้คนไทย 80–85% อยู่ในระบบนิเวศธุรกิจ (Business Ecosystem) ของพีทีจี เพื่อพัฒนาการบทบาทหน้าที่ของบัตรสมาชิกพีที ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเครือ PT เข้ากับพาร์ทเนอร์ และลูกค้าสมาชิกผู้ถือบัตร เพื่อหลอมรวม Business Ecosystem เข้ามาอยู่ด้วยกันในที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อพีทีจีรู้พฤติกรรมผู้บริโภคแล้วจะต่อยอดบริการที่ครอบคลุมที่ไม่ใช่แค่มาเติมน้ำมัน แต่มาใช้บริการร้านกาแฟพันธุ์ไทย และร้าน Coffee World ซื้อสินค้าจากร้าน Max Mart และซื้อสินค้า บริการต่างๆ ของพันธมิตรอีกด้วย เพราะ Max World จะกลายเป็นแพลตฟอร์ม Big Data ขนาดใหญ่ที่ทำให้กลุ่มพีทีจี พัฒนาเป็น Data-driven Company โดยกลุ่มธุรกิจในเครือพีทีได้ทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อจะได้นำเสนอสินค้า บริการได้สอดคล้องกับลูกค้า ลงลึกทั้งในระดับ Segmentation ไปจนถึง Personalization
โดยในแต่ละปี พีทีจี จะวางงบลงทุนไว้ที่ 4,000-4,500 ล้านบาทแต่ปี 2564 นี้ ประเทศไทยรวมถึงประเทศทั่วโลกยังประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ใช้ระยะเวลายาวนานมา 2 ปี ทำให้บริษัทฯ ต้องระมัดระวังในการใช้งบประมาณ ส่งผลให้ปีนี้พีทีจี ได้ปรับงบประมาณลงทุนอยู่ที่ 3,000-3,500 ล้านบาท
จากที่รัฐบาลเตรียมตัวคลายล็อกดาวน์เนื่องจากไทยและทั่วโลกได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เป็นจำนวนที่สูงขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาล จึงมองว่า การประชาชนจะสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวเฉลิมฉลองสิ้นปีจนถึงปีใหม่ 2565 ได้อย่างสบายใจหลังจากที่การใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากกว่าออกไปนอกบ้าน การทำงานยังเป็นแบบ WFH เมื่อรัฐบาลคลายล็อก หลายๆ องค์กรเริ่มให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานได้เกินครึ่งหรือเกือบ 100% จะทำให้คนอยากออกไปพบเจอกัน การใช้จ่าย ส่งผลเศรษฐกิจก็จะดีตามมาด้วย
สำหรับทิศทางหลังจากโควิด-19 บริษัทฯ ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี2558 ผู้บริหารทุกคนรู้จัก S-Curve ซึ่งทุกคนมองข้ามไปยังอนาคต มองการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างกำไรสูงกว่าไม่ใช่แค่ธุรกิจน้ำมันอย่างเดียว จึงเป็นผลจากกลยุทธ์ผลักดันการเติบโตธุรกิจนอนออยล์เกิดขึ้น จึงได้เพิ่มสาขานอนออยล์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุมทุกพื้นที่ เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
นอกจากนี้ จะเพิ่มสถานีบริการน้ำมันและแก๊ส LPG อีก100-150 สาขาและขยายการให้บริการธุรกิจแก๊ส LPG ครัวเรือน จากการเพิ่มสาขาการให้บริการGas Shop อีก 50 สาขา เนื่องจากมีแผนที่เพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายแก๊ส LPG ครัวเรือนให้มีสัดส่วน 40-50% ของปริมาณการจำหน่ายแก๊ส LPG ทั้งหมด
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้บริการ และการปรับตัวในธุรกิจนอนออยล์ บริษัทฯ มีทีมนวัตกรรม เพื่อให้สิทธิพนักงานได้ทดลองคิดค้นผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ธุรกิจให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยมีหลายโครงการอยู่ใน Sandbox อาทิ เกิดร้านก๋วยเตี๋ยวเรือร่าเริงผสมใบกัญชา เป็นต้น นอกจากทีมนวัตกรรมที่มีอยู่ บริษัทฯ ยังได้ร่วมคิดค้น หารือเพื่อให้มีแนวคิดร่วมกันกับบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ ด้าน โลจิตส์ติก ไลฟ์สไตล์ เพื่อตอบโจทย์ครอบคลุมผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น
บริษัทฯ ยังเดินหน้าต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (Oleo Chemical) เป็นต้น จากโครงการ Palm Complex ที่ปัจจุบันสามารถดำเนินโครงการได้เต็มกำลังการผลิต โดยคาดว่า จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ ยา และเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว โดยเร็วๆนี้จะเห็นผลิตภัณฑ์ออกมาวางจำหน่ายได้ ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำธุรกิจปาล์มน้ำมันจำนวนมาก สามารถนำน้ำมันปาล์มมากลั่นเป็นน้ำมันบี100 ผสมในน้ำมันหมุนเร็วได้ อีกทั้งยังทำเป็นน้ำมันเพิ่มผู้บริโภคได้ด้วย ซึ่งบริษัทฯ มีกิจการกลั่นน้ำมันอยู่แล้ว อีกทั้งยังพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวได้ เป็นต้น
“ในไม่กี่เดือนนี้ บริษัทฯจะออกอีก 2 ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการผลิตน้ำมันปาล์ม จะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการปั้มน้ำมันหันมาทำนอนออยล์ถือเป็นเรื่องปกติ เราจะไม่แข่งกับใคร แต่จะแข่งกับตัวเองมากกว่า”
ทั้งนี้ ปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้ามีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) เติบโตแต่ละปีอยู่ที่ 10% เนื่องจากบริษัทฯ ยังคงเห็นโอกาสการเติบโตในอุตสาหกรรมน้ำมันภาพรวมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันอยู่ที่ 4,959 ล้านลิตร หรือคิดเป็นเติบโต 5.9% เมื่อเทียบจากปีก่อน และตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำมันในปีนี้โต 8-12% เพื่อครองส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อันดับที่2ต่อไป