เปิดมุมมอง กูรูเศรษฐกิจ ส่องทิศทาง ‘ค่าเงินบาท’สิ้นปีนี้

เปิดมุมมอง กูรูเศรษฐกิจ ส่องทิศทาง ‘ค่าเงินบาท’สิ้นปีนี้

ทิศทางเงินบาทสิ้นปีนี้ "กสิกรไทย-ซีไอเอ็มบี-กรุงไทย" คาดยัง "แข็งค่าขึ้น" ต่อที่ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์  ฝั่ง"ทีทีบี-กรุงเทพ" ชี้กลับมา"อ่อนค่า"ที่ 33.00-34.50 บาทต่อดอลลาร์  ด้าน"กรุงศรี" จับตาปัจจัยนอกประเทศ ยังกดดันบาทผันผวนที่ 32.50-33.80 บาทต่อดอลลาร์ 

ในช่วงโค้งท้าย ปี2564  ดูเหมือนว่า "ตลาดการเงินผันผวน"  ต่อเนื่อง  เริ่มสะท้อนจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ การกลับทิศของเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าเร็วกว่าที่ตลาดคาด รับข่าวการเตรียมเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ ของรัฐบาล  หนุนให้มีกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้าเก็งกำไรสินทรัพย์ในไทย 

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ระดับ 33.16 บาทต่อดอลลาร์ และวันสุดท้ายของสัปดาห์ (15 ต.ค.2564 ) เงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าเล็กน้อย มาปิดตลาดที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์  โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามการปรับโพสิชันของนักลงทุน ขณะที่ดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่า จากปัจจัยหนุนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ ปรับตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้า (18-22 ต.ค.2564) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดไว้ที่ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ 

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติในตลาดการเงินไทย สถานการณ์โควิด และตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนก.ย. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยและผลสำรวจภาคการผลิตจากเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย เดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ประกอบด้วย ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3/64 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน รวมถึงข้อมูล PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนและอังกฤษ

เปิดมุมมอง กูรูเศรษฐกิจ ส่องทิศทาง ‘ค่าเงินบาท’สิ้นปีนี้

 

อย่างไรดีช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้  "กูรูเศรษฐกิจ" ของธนาคารพาณิชย์ ได้ให้มุมมอง "ปัจจัยบวก-ปัจจัยลบ"  รวมถึง "คาดการณ์เงินบาทในสิ้นปี 2564 ดังนี้    

กสิกรไทย-ซีไอเอ็มบี-กรุงไทย

ชี้ทิศทางบาท"แข็งค่าขึ้น" ต่อ

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย  หรือ KBANK มองว่า "ค่าเงินบาท"คงยังมีความผันผวน จากปัจจัยต่างๆ ที่ต้องติดตาม  โดยในเดือนพ.ย. นี้ ทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับนโยบายการเงิน การถอนมาตรการ คิวอีและเราต้องดูผลว่าการเปิดเมืองจะนำไปสู่นักท่องเที่ยวมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงราคาน้ำมันจะปรับฐานหรือไม่  

สำหรับเป้าหมายค่าเงินบาท มองกรอบช่วงนี้จนถึงสิ้นปีนี้อยู่ระหว่าง 32.50 - 34.00 บาทต่อดอลลาร์  โดยเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นที่ระดับ  32.75 บาทต่อดอลลาร์ ในสิ้นปีนี้  

นายอมรเทพ​ จาวะลา​ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่​ สำนักวิจัย​ ธนาคาร​ ซีไอเอ็มบี​ ไทย​ หรือ CIMBT มองว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นแตะ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นปีนี้  โดยค่าเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าเทียบสกุลอื่นๆ​ จากการที่นักลงทุนในตลาดการเงินคลายความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยง​ ทั้งเงินเฟ้อสหรัฐในเดือนกันยายนที่แม้เพิ่มขึ้น0.4%จากเดือนก่อน​ แต่ไม่น่าเปลี่ยนมุมมองให้เฟดเร่งการถอนมาตรการคิวอี คาดว่าจะเริ่มปรับลดลงเดือนละ1.5หมื่นล้านดอลลาร์​ในรอบการประชุมเดือนพ.ย.นี้  และน่าจะสิ้นสุดมาตรการคิวอีกลางปี2565 ​

ขณะที่ตัวเลขการส่งออกของจีนในเดือนก.ย.พุ่งขึ้น​ 28.1%yoyจาก25.6%yoyในเดือนก่อน​ ซึ่งส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลในเศรษฐ​กิจจีนและภูมิภาคเอเชีย​ 

ส่วนเงินบาทแข็งค่าขึ้นแรง มาจากความคาดหวังในการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามา​ ซึ่งจะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ​และรายได้ในรูปดอลลาร์​สหรัฐ​ที่มากขึ้น​ ส่งผลให้สินทรัพย์​ในรูปสกุลเงินบาทเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB  กล่าวว่า เรายังคงมุมมองเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นโดยในช่วงปลายปีนี้ อาจจะเห็นเงินบาทแข็งค่าในกรอบ 32.75-33.00 บาทต่อดอลาร์

ทั้งนี้ แนวโน้มเงินค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามที่เราเคยประเมินไว้ เพียงแต่การแข็งค่ารอบนี้ ถือว่าเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้มาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการต่างรอจังหวะทยอยเข้าซื้อหรือขายเงินดอลลาร์ในกรอบที่กว้างทำให้ เมื่อมีธุรกรรมเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่า 

ประกอบกับหลังนายกฯ ประกาศเตรียมเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้  ค่าเงินบาทจึงแข็งค่าหนัก นอกจากนี้ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ธุรกรรมก็เบาบาง ทำให้เงินบาทก็แข็งค่าขึ้นไปอีก สอดคล้องกับการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ 

อย่างไรก็ดี แม้เราอาจเห็นฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติทยอยเข้ามาเก็งกำไรการเปิดประเทศ ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ล่าสุดยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและอัตราการตรวจพบเชื้อ (Positive Rate) ก็ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นเรามองว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติก็อาจจะไม่ได้พากันกลับเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นจากที่เราเคยประเมินไว้แต่อย่างใด 

อีกทั้ง มองว่า ปัญหาด้านซัพพายเชน (Supply Chain)ยังคงกดดันให้ ค่าขนส่งหรือค่าระวางเรือยังอยู่ในระดับสูง กดดันให้ ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุลอย่างต่อเนื่อง จนกว่าที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาเยอะขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเรามองว่า จังหวะดังกล่าวคือช่วงครึ่งหลังของปีหน้า นอกจากนี้ ราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงก็อาจกดดันให้ ดุลการค้ามีโอกาสขาดดุลได้ในระยะสั้นเช่นกัน 

 

"ทีทีบี-กรุงเทพ" มองแนวโน้มเงินบาท "อ่อนค่า" ในสิ้นปีนี้ 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ  ttb กล่าวว่า  เงินบาทปรับตัวแข็งรอบนี้เป็นช่วงระยะสั้น รับข่าวการเปิดประเทศ ประกอบกับการที่บาทอ่อนลงมาก 11% จาก ต้นปี) จึงมีการปรับฐาน ( correction) แข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ระยะยาวน่าจะคงการอ่อนค่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคเนื่องจากเราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงให้กรอบเงินบาท 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปีนี้ 
ปัจจัยบวกคือเรื่องการเปิดประเทศและการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้กิจกรรมทางศก เริ่มกลับมา ขณะที่ปัจจจัยลบคือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอีกจากระดับราคานำน้ำมันโลกที่ปรับสูงขึ้น

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL  มองว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4  ปีนี้ แตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ภายในปลายปีนี้ แต่อาจจะแข็งค่าขึ้นจากประเด็นเกี่ยวกับการเปิดประเทศในเดือนพ.ย.นี้  มองว่า ถ้าฉีดวัคซีนครบโดสได้ตั้งแต่ 70% ขึ้นไป และ 90% สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ก็น่าจะพร้อมเปิดประเทศได้ 

ดังนั้น ความเหมาะสมของการเปิดประเทศน่าจะอยู่ที่อัตราการฉีดวัคซีนได้เร็วเพียงใด ประเด็นนี้จึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อค่าเงินบาทอยู่บ้าง ประกอบกับดอลลาร์ยังอยู่ในแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินบาทและเศรษฐกิจไทยอาจยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก

ขณะเดียวกันในเดือน พ.ย. คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)  จะยังคงปรับลดเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเริ่มปรับสูงขึ้น และต้นทุนการเงินมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลก จึงอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เกิดการสะดุดบ้าง

"กรุงศรี" จับตาปัจจัยนอกประเทศ

กดดันบาทผันผวน "แข็งค่า-อ่อนค่า"  

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง  ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  หรือ BAY มองว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ให้กรอบ 32.50-33.80 บาทต่อดอลลาร์ 

มองภาพใหญ่อยู่ที่ประเด็นจากต่างประเทศ ได้แก่ เงินเฟ้อโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน และนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยตลาดปรับตัวรับคาดการณ์การลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ของเฟดในเดือนพ.ย.-ธ.ค. นี้ไปแล้ว แต่จังหวะเวลาเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นก่อนไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 หรือไม่

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเรื่องการต่อวาระตำแหน่งประธานเฟด และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอยู่ในความสนใจของตลาดเช่นกันซึ่งหากโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสะดุดลงแต่เงินเฟ้อยังสูง (ความเสี่ยงภาวะ Stagflation) จะเป็นประเด็นลบสำหรับค่าเงินบาท

ส่วนปัจจัยเฉพาะตัว คือ ความหวังเรื่องการเปิดประเทศ ซึ่งหากการฉีดวัคซีนยังสามารถดำเนินได้อย่างในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าน่าพอใจ และมีความหวัง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินบาทซึ่งในระยะเวลากว่า  1 ปีที่ผ่านมา ไทยเผชิญการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการขาดดุลบริการ ดังนั้นหากภาคท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว จะช่วยบรรเทาการขาดดุลได้ในเบื้องต้น

โดยเราเชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวจะไม่ดำดิ่งลึกไปกว่านี้แล้ว ขณะที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะผันผวนสูงแต่เชื่อว่าค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่ถูกลงมากในปีนี้ (อ่อนค่าราว 10% นับจากต้นปี) และหากมีสัญญาณการฟื้นตัวเป็นรอบๆ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์ปรับฐาน คาดว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาพักในสินทรัพย์สกุลเงินบาท ลักษณะเข้าออกเร็ว