PRM ผลงานสวยหรู... แต่ทำไมราคาหุ้นไม่ฉิว !
ริมถนนนักลงทุน เสิร์ฟความเคลื่อนไหวแวดวงตลาดหุ้น หนึ่งความเคลื่อนไหวน่าสนใจ ยกให้ หุ้นขนส่งและจัดเก็บน้ำมัน อย่าง “พริมา มารีน” กำลังรับผลบวกคำยืนยันเปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้ ธุรกิจจ่อขานรับดีมานด์น้ำมันพุ่ง แอ๊ะ ! งานนี้ต้องลุ้นหุ้น PRM จะวิ่งฉิวทำจุดสูงสุดได้มั้ยนะ !
๐ พลันที ! นายกรัฐมนตรีประกาศ 1 พ.ย. 2564 ประเทศไทยเปิดรับ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” บรรยากาศ "ตลาดหุ้นไทย" เรียกว่า “คึกคัก” ทันที ส่งผลให้เห็นจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ขานรับข่าวดังกล่าว โดยมีมุมมองเชิง “บวก” ต่อกระแสเงินไหลเข้าของนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
๐ โดยคาดว่าในช่วงดังกล่าวจะมี "เม็ดเงินต่างชาติ" (Fund Flow) ไหลเข้าราว 2-5 หมื่นล้านบาท พบว่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ได้รับอานิสงส์จาก “การเปิดเมือง” และ “ราคาน้ำมันขาขึ้น” ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในดัชนี SET50 โดยกลุ่มธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคติดโผ “สูงสุด” !
๐ ปี 2563 คงต้องยกให้เป็น “ปีทอง !” ของหุ้นขนส่งทางเรือ และหนึ่งในนั้นต้องยกให้ บมจ. พริมา มารีน หรือ PRM สอดคล้องกับผลประกอบการที่เติบโต “โดดเด่น” ทว่าทำมั้ยทำไม !! หันมองมาที่ราคาหุ้น PRM ถึงไม่สวยหรู ! เหมือนเช่นผลประกอบการที่สร้างสถิติใหม่ก็ไม่อาจรู้ได้
๐ หากลองย้อนดูราคา หุ้น PRM ในปี 2561 เคยขึ้นไปทำ “จุดสูงสุด” (New High) ที่ 12.10 บาท หลังจากนั้นราคาหุ้นก็ปรับตัวลดลงมาต่อเนื่องโดยตลอดในเดือนมี.ค. 2563 เคยลงไปทำ “จุดต่ำสุด” ที่ 2.98 บาท และราคาฟื้นกลับมาแกว่งตัวไม่เคยขึ้นไปเกิน 10 บาทได้อีกเลย !! แม้ผลประกอบการของบริษัทถือว่าทำได้ดีมาก
๐ ในปี 2564 สถานการณ์ผลประกอบการของ PRM แนวโน้มอาจจะไม่สวยหรู !! เท่าปีก่อนแน่นอน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ "วงใน" กระซิบมาว่า “แม้ไม่สวยเท่าปีก่อน แต่ตัวเลขก็ไม่ได้เป็นลูกเป็ดขี้เหร่นะ !” โดยปีนี้ “ปัจจัยกดดัน” มาจากสถานการณ์ "ความต้องการ" (ดีมานด์) ของธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) ยังคงปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน
๐ อย่างไรก็ตาม ได้ยินแว่วๆ ว่า PRM ไม่นิ่งนอนใจบริษัทก็พยายามหารายได้จากธุรกิจอื่นๆ เข้ามาทดแทน.... งานนี้คงต้องรอลุ้นกัน 3 เดือนสุดท้ายปี 64 แต่คาดว่าน่าจะฟื้นตัว หากไม่มีไรผิดพลาดหรือมีอะไรมาเซอร์ไพร์ส หลังนายกรัฐมนตรีประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแล้ว คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น
๐ นี่คงเป็นการขยับตัวครั้งแรก ! หากนับตั้งแต่เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นของ บมจ. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ในการ่วมทุน (JV) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) (BTG) ภายใต้ชื่อ บริษัท เคอรี่ เบทาโกร จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนขั้นต้น 1 ล้านบาท โดย KEX ถือหุ้น 60% และ BTG ถือหุ้น 40% และมีแผนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท ในการดำเนินงานระยะแรก ในธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิชั้นนำ (Cold delivery platform) ในระดับแนวหน้า ด้วยแพลตฟอร์มเทคโนโลยีและระบบงานที่มีประสิทธิภาพสูง
๐ ฟากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอสที ระบุว่า มีมุมมองเป็น “บวก” ต่อการร่วมมือกันระหว่าง KEX และ BTG เนื่องจาก BTG มีฐานลูกค้าที่ใหญ่ ซึ่งจะช่วยหนุนให้การดำเนินธุรกิจ Cold delivery platform เติบโตได้ไม่ยาก
๐ นอกจากนี้ ยังคาดว่า จะเห็นการ Synergy ระหว่า KEX และ BTG ดังนี้ “ในระยะแรก” BTG จะใช้บริการ Cold Chain ของ KEX ในการขนส่งสินค้าให้กลุ่ม B2B ก่อน จากนั้นจึงค่อยแตกไลน์ไปยังกลุ่มลูกค้า B2C ของ BTG “KEX และ BTG” จะร่วมมือกันหาลูกค้ารายย่อยกลุ่ม Food อื่นๆ ที่ต้องการใช้บริการ Cold Chain Logistic ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการลูกค้ากลุ่มดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565