“จีพีเอสซี” ผนึก 4 องค์กร ติดตั้งโซลาร์รูฟฯ ตั้งเป้ากว่า 100MW ภายในปี 65
“จีพีเอสซี” ผนึก 4 องค์กร ขับเคลื่อนการลงทุนโซลาร์รูฟฯ และการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการ Solar Orchestra เพื่อลดค่าใช้จ่าย รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตตามเทรนด์โลก พร้อมเปิดประตูการค้า ตั้งเป้าติดตั้งกว่า 100 เมกะวัตต์ สิ้นปี 2565
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 5 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย GPSC, บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK), องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) และบริษัท นีโอคลีน เอ็นเนอยี่ จำกัด (NEO ) เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ Solar Orchestra ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาลงทุน Solar Rooftop แล้วขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ “โครงการ T-VER” และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ โดยตั้งเป้าหมายการติดตั้ง Solar Rooftop กว่า 100 เมกะวัตต์ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2565
สำหรับความร่วมมือดังกล่าว แบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ GPSC ในฐานะแกนนำด้านธุรกิจไฟฟ้าของ กลุ่ม ปตท. จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาผู้ประกอบการไทย โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน CHPP บริษัทในกลุ่มซึ่ง GPSC ถือหุ้น 100% จะเป็นผู้รับเหมาหลัก (EPC Contractor) ในการพัฒนาติดตั้งโซลาร์ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ Solar Orchestra ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ขณะที่ EXIM BANK จะให้การบริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่สนใจติดตั้งระบบ Solar Rooftop เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก TGO จะสนับสนุนความร่วมมือเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระบวนการและหลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และการขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย เพื่อจะขับเคลื่อนให้ไทยก้าวสู่นโยบายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ.2608-2613 (ค.ศ. 2065 - 2070) ตามที่รัฐบาลได้กำหนดแผนงานเพื่อให้ก้าวทันในเวทีโลก และ NEO จะช่วยดำเนินการเป็นผู้รับเหมารอง (Sub EPC Contractor) โครงการ Solar Orchestra ดังกล่าว
“ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการมอบสิทธิประโยชน์แบบ All in one package ให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจลดค่าไฟฟ้า โดยการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในกิจการ จากการร่วมดำเนินงานโดยบริษัทชั้นนำของประเทศ พร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การสนับสนุนทางการเงินด้วยเงื่อนไขพิเศษ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านคาร์บอนเครดิต” นางรสยากล่าว
นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ กรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) กล่าวว่า ภายใต้แนวคิด Sustainable Energy Management for All การพัฒนาโครงการ Solar Orchestra เป็นการขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียน เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตของไทย ที่มีแนวโน้มต้องการพลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตสินค้ามากขึ้นตามทิศทางของกระแสโลก ที่มุ่งใช้นโยบายพลังงานสะอาดเพื่อลดภาวะโลกร้อน และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การนำไปรายงานเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint Organization) ในรายงานประจำปี ที่จะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ดังนั้น การคัดสรรเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจึงมีความสำคัญในการพัฒนาโครงการ ซึ่ง CHPP มีประสบการณ์ที่จะสามารถออกแบบการติดตั้งระบบ Solar Rooftop, Solar Floating และ ระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management) ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจพลังงานสะอาดให้เหมาะสมต่อการใช้ไฟฟ้าของผู้ประกอบการแต่ละราย
ทั้งนี้ GPSC ถือหุ้นโดย บมจ.ปตท.(PTT)ในสัดส่วน 44.45% บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 20.78% บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC) 10.00% และนักลงทุนทั่วไป 24.77% (PTT และ SMH (บริษัทย่อยที่ PTT ถือหุ้นทั้งหมด) ถือหุ้น GPSC จำนวน 42.54% และ 1.91% ตามลำดับ)
สำหรับ GPSC ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอื่นๆ โดยปัจจุบัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติแล้วตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) รวมประมาณ 7,102 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 2,946 ตันต่อชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 15,400 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 7,372 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง